กทม. 2 พ.ค. – มีการแชร์กันว่าให้ระวังธนบัตรบางเลขหมายจะเป็นธนบัตรปลอม จริงหรือไม่ ติดตามใน “ชัวร์ก่อนแชร์”
ธนบัตรเป็นตัวแทนแลกเปลี่ยนและชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่สิ่งที่คนทำมาค้าขายต่างระวังกันมากคือเรื่องเงินปลอม อย่างเช่นที่มีการแชร์เรื่องแบงก์พันปลอมระบาด โดยให้สังเกตรหัสว่าเป็นหมวด 9A และ 4G
ใครๆ ก็กลัวธนบัตรปลอม แต่ก่อนจะแชร์วิธีนี้ต่อต้องเช็กให้ถูกชัวร์จึงไปสอบถามผู้ทำหน้าที่ออกใช้ กระจายและทำลายธนบัตรตัวจริง ธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่ามีธนบัตรปลอมหมายเลขดังกล่าวอยู่จริง แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นประมาณปี 57
ไปฟังวิธีของแบงก์ชาติในการเช็กว่าปลอมหรือจริง วิธีดูที่ถูกต้องคือ สัมผัส ยกส่อง และพลิกเอียง
สัมผัส เรารับธนบัตรมาทุกคนต้องสัมผัสอยู่แล้ว ที่ชัดๆ เลย ตัวเนื้อกระดาษ ธนบัตรจริงจะมีความแกร่ง แต่ถ้าธนบัตรปลอมผ่านมือแค่ครั้งสองครั้งโดนความชื้นนิหน่อยกระดาษพวกนี้ก็จะเสื่อมสภาพแล้ว
ธนบัตรยังมีจุดที่พิมพ์นูนเพื่อให้สัมผัสรู้ได้ง่ายทันที เช่น เส้นนูนใต้เลขราคา อักษรเบรลล์ รวมทั้งคำว่า รัฐบาลไทย
ส่วนยกส่อง เมื่อยกส่องแสงสว่างแล้ว ก็จะมีส่วนที่เป็นลายน้ำพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้าเจอธนบัตรที่สงสัยว่าปลอมเอามาเทียบกับฉบับจริงจะเห็นความแตกต่างค่อนข้างชัดเจน การยกส่องยังทำให้ได้เห็นภาพซ้อนทับด้านหน้าและหลังต่อเนื่องตรงกันพอดี รวมทั้งแถบสีจะมองเป็นเส้นเดียวกันมีเลขราคาเล็กๆ ต่อเนื่องมาถึงการพลิกเอียง มีหลายจุดให้สังเกตทั้งตัวเลขแฝง หมึกเปลี่ยนสี ฟอยล์สามมิติที่ซับซ้อนเยอะมาก
ธนบัตรถ้าโดนขีดเขียนไปแล้วก็ไม่ต้องทำอะไร เอาไปใช้จ่ายตามปกติ และในที่สุดก็จะหมุนเวียนสู่ระบบธนาคารพาณิชย์ซึ่งก็จะมีระบบคัดกรอง ไม่ต้องตกใจว่าจะใช้ไม่ได้หรืออย่างไร ยังใช้ได้อยู่ เพียงแต่สภาพก็ไม่น่าใช้
ดังนั้นที่แชร์ให้สังเกตธนบัตรปลอม โดยดูจากรหัสนั้นเป็นอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ไม่ควรแชร์ต่อ ไม่เพียงการรับเงินที่ต้องระวังเท่านั้น แต่การจ่ายเงินออกไปก็ต้องคิดให้รอบคอบด้วย เงินจริงจะได้มีคุณค่าจริงๆ. – สำนักข่าวไทย