กรุงเทพฯ 6 พ.ค. – “วราวุธ” สั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกำหนดมาตรการป้องกัน “โลมาอิรวดี” ในทะเลสาบสงขลาสูญพันธุ์ หลังสำรวจพบเหลือเพียง 14 ตัว โดยต้องมีมาตรการแก้ไขระยะสั้นจากปัญหาติดเครื่องมือประมง การฟื้นฟูแหล่งอาหาร ส่วนระยะยาวอาจต้องผสมข้ามพันธุ์กับโลมาอิรวดีทะเลประเทศอื่นเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ให้อยู่คู่ทะเลสาบสงขลาและประเทศไทย
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเร่งกำหนดมาตรการป้องกันโลมาอิรวดีสูญพันธุ์ โดยจากการสำรวจจำนวนประชากรในทะเลสาบสงขลาล่าสุดพบว่า เหลือเพียง 14 ตัว จากที่เคยสำรวจพบในปี 2564 มี 16 ตัวซึ่งขณะนี้สังคมกำลังห่วงใยว่า สัตว์ทะเลหายากชนิดนี้มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง
ทั้งนี้โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาเป็นโลมาชนิดเดียวของประเทศไทยที่อาศัยอยู่ในน้ำจืด โดยเป็น 1 ใน 5 แห่งของโลกที่พบโลมาชนิดนี้ได้แก่ อินเดียซึ่งปัจจุบัน 150 ตัว อินโดนีเซีย 90 ตัว เมียนมา 80 ตัว กัมพูชา 90 ตัว ดังนั้นไทยที่เหลือเพียง 14 ตัวจึงเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุด
นายวราวุธกล่าวต่อว่า การวางแผนอนุรักษ์และขยายพันธุ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาจึงต้องมีมาตรการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นเช่น การดูแลเขตอนุรักษ์โลมา การเพิ่มศักยภาพการลาดตระเวนเชิงคุณภาพของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ การส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ประมงเพื่อให้ชาวประมงอยู่ได้ การเพิ่มสัตว์น้ำที่เป็นอาหารของโลมาอิรวดี เช่น การเพิ่มซั้งในเขตโลมา รวมถึงการออกทำความเข้าใจกับประชาชนและชาวประมงในพื้นที่ถึงความสำคัญของโลมาอิรวดีทั้ง 14 ตัวที่เหลืออยู่ และเร่งสำรวจจำนวนประชากรตลอดจนการแพร่กระจาย ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาชนในการแจ้งข่าว เมื่อเจอโลมาติดเครื่องมือประมง ส่วนระยะยาวกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ทะเลศึกษาการผสมข้ามพันธุ์กับโลมาอิรวดีจากทะเลประเทศอื่นเนื่องจากจำนวนประชากรอยู่อย่างจำกัดในทะเลสาบสงขลาและการที่ไม่สามารถอพยพเคลื่อนย้ายแลกเปลี่ยนความหลากหลายของสายพันธุ์กับโลมาอิรวดีกลุ่มอื่น ทำให้เกิดการผสมสายพันธุ์เลือดชิด เป็นผลให้ลูกโลมามีความอ่อนแอ
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกล่าวว่า โลมาอิรวดีที่พบในประเทศไทย พบอาศัยอยู่บริเวณตอนบนของทะเลสาบสงขลาที่เรียกว่า ทะเลหลวง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ลึกที่สุดของทะเลสาบ มีความลึกเฉลี่ย 2 – 3 เมตร นอกจากนี้ยังพบว่า มีการหากินเฉพาะบริเวณที่มีความลึกของน้ำมากกว่า 2 เมตร และจะไม่เข้าใกล้ฝั่งหรือพื้นที่น้ำตื้นกว่านี้ และที่สำคัญคือ จะมีการหากินที่หลบเลี่ยงจากพื้นที่ที่มีการทำประมง จากการสำรวจจำนวนประชากรของโลมาอิรวดีในช่วงปี 2560 – 2564 พบว่า มีแนวโน้มจำนวนประชากรลดลง จากปี 2558 พบ 27 ตัว ต่อมาปี 2564 พบ 16 ตัว แต่ล่าสุดในปีนี้พบว่า เพียง 14 ตัวเท่านั้น
สำหรับสาเหตุหลักของการเกยตื้นของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา มาจากการติดเครื่องมือประมงประเภทอวนเช่นอวนปลาบึก อวนปลากะพง เป็นส่วนใหญ่ รองลงมาเป็นสาเหตุทางด้านกายภาพและชีวภาพเช่น เกิดการตื้นเขินของทะเลสาบจากตะกอนชายฝั่ง มลภาวะจากธาตุอาหารพืช (Eutrophication) หรือภาวะการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของแพลงก์ตอนพืชและสาหร่ายในแหล่งน้ำจืด การก่อสร้างสิ่งลวงล้ำลำน้ำ การเกิดมลพิษในน้ำและดินในทะเลสาบปริมาณสัตว์น้ำที่เป็นอาหารของโลมาอิรวดีลดลง และการเจ็บป่วยตามธรรมชาติ โดยอีกสาเหตุสำคัญคือ การผสมสายพันธุ์เลือดชิด เป็นผลให้ลูกโลมามีความอ่อนแอ
นายโสภณกล่าวต่อว่า จะเร่งดำเนินมาตรการระยะต่างๆ ตามข้อสั่งการของรมว. ทส. อีกทั้งยังต้องเร่งศึกษาวิจัยเป็นงานคู่ขนานเพื่อศึกษาถึงสาเหตุของการตายวัยเด็กของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา ซึ่งอาจมาจากปัญหาเลือดชิดหรือการปนเปื้อนของสารพิษในแหล่งน้ำ รวมถึงการศึกษาแนวทางการเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรม ตลอดจนการแก้ปัญหามลพิษ การตื้นเขิน และรวมทั้งการจัดสร้างศูนย์ช่วยเหลือและพยาบาลสัตว์ทะเล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือพร้อมอุปกรณ์การปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับการดูแลจัดการถิ่นที่อยู่ของโลมา และการจัดการสภาพแวดล้อมของทะเลสาบสงขลา
ทั้งนี้ “โลมาอิรวดี” จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และยังเป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อตกลงระหว่างประเทศจากการประชุม CITES ครั้งที่ 13 เมื่อปี 2546 ที่ประเทศไทยได้เสนอให้โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองบัญชีที่ 1 ส่งผลให้ได้รับการคุ้มครองในระดับนานาชาติด้วย ดังนั้นจะต้องอนุรักษ์ให้เป็นสัตว์ทะเลหายากที่อยู่คู่กับทะเลสาบสงขลาสืบไป ไม่กลายเป็นเพียงตำนานเหมือนดังเช่นที่มีข่าวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สูญเสียโลมาอิรวดีตัวสุดท้ายในแม่น้ำโขง บริเวณชายแดนกัมพูชา กับ สปป.ลาว ไปแล้วตามแถลงการณ์ขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF .- สำนักข่าวไทย