กรุงเทพฯ 28 เม.ย.- รมว.วราวุธ เผยห่วงสถานการณ์ใกล้สูญพันธุ์ของ “โลมาอิรวดี” สัตว์ป่าคุ้มครองที่เหลือเพียง 14 ตัวในทะเลไทย สาเหตุที่ประชากรลดลงเนื่องจากติดอวนปลาบึก เกยตื้น และการผสมพันธุ์แบบเลือดชิด ย้ำชาวประมงหากมี “โลมาอิรวดี” หรือสัตว์ทะเลหายากอื่นๆ ติดเครื่องมือประมง ขอให้ปล่อยเพื่อคงความสมดุลของระบบนิเวศ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า เป็นห่วงสถานการณ์ใกล้สูญพันธุ์ของ “โลมาอิรวดี” ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศของทะเลไทย แต่จากการสำรวจอย่างต่อเนื่องเหลือเพียง 14 ตัว สาเหตุหลักที่ประชากรลดลงเนื่องจากติดเครื่องมือทำประมง โดยเฉพาะอวนปลาบึก การเกยตื้นเนื่องจากสภาพชายฝั่งที่มันอาศัยอยู่เปลี่ยนแปลงตื้นเขินขึ้น นอกจากนี้การผสมพันธุ์แบบเลือดชิดทำให้สายพันธุ์อ่อนแอลงเนื่องจากว่ายหากินอยู่ในอ่าวไทย ไม่ได้ออกไปในทะเลเปิด
ขณะนี้กรมทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งเข้มงวดในการตรวจเรือประมง ไม่ให้ใช้เครื่องมือประมงที่อาจเป็นอันตรายต่อ“โลมาอิรวดี” และสัตว์ทะเลหายากอื่นๆ นอกจากนี้ยังทำงานวิชาการโดยออกสำรวจเพื่อประเมินจำนวนประชากรสถานภาพ และการแพร่กระจายของโลมาอิรวดี ตลอดจนสัมภาษณ์ชาวประมงในพื้นที่ที่เคยพบโลมาอิรวดีเกี่ยวกับการพบเห็นโลมาเพื่อรวบรวมข้อมูลประชากรของโลมาอิรวดี เป็นฐานข้อมูลในการเสนอให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการอนุรักษ์ประชากรโลมาอิรวดี
นายวราวุธกล่าวต่อว่า ขอร้องชาวประมง หากโลมาอิรวดีและสัตว์ทะเลหายากอื่นๆ ติดเครื่องมือประมง ให้ปล่อยคืนสู่ทะเลเพื่อคงความสมดุลของระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารของทะเลไทยต่อไป
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระบุว่า โลมาอิรวดี หรือ โลมาหัวบาตรมีครีบหลัง (ชื่อภาษาอังกฤษ : Irrawaddy dolphin, Ayeyarwaddy dolphin; ชื่อวิทยาศาสตร์: Orcaella brevirostris) เป็นสัตว์เลือดอุ่น เลี้ยงลูกด้วยนมอาศัยอยู่ในทะเล มีลักษณะเด่นคือ หัวที่มนกลมคล้ายบาตรพระ ลำตัวสีเทาเข้ม แต่บางตัวอาจมีสีอ่อนกว่า ตามีขนาดเล็ก ปากอยู่ด้านล่าง ครีบข้างลำตัวแผ่กว้างเป็นรูปสามเหลี่ยม ครีบหลังมีขนาดเล็กมาก มีรูปทรงแบนและบางคล้ายเคียว มีความยาวประมาณ 180–275 เซนติเมตร โลมาอิรวดี มีลักษณะหน้าตาและพฤติกรรมน่ารัก และมักเป็นมิตรกับมนุษย์ อาศัยอยู่ตามพื้นที่ชายฝั่ง หรือปากแม่น้ำขนาดใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ อาจหากินลึกเข้าไปในแม่น้ำได้มาก หรืออาจอาศัยอยู่ในแม่น้ำขนาดใหญ่ได้เลย สามารถอยู่ใต้ผิวน้ำได้นานถึง 70-150 วินาที แล้วจะโผล่ขึ้นมาหายใจสลับกัน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ตั้งท้องนาน 9 เดือน
โลมาอิรวดีเป็นหนึ่งในโลมาเพียงไม่กี่ชนิด ที่มีความสามารถในการปรับตัวให้อาศัยอยู่ในน้ำจืดได้ พบประชากรที่กระจายอย่างกว้างขวางในบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเล บางกลุ่มอาจเข้ามาอาศัยอยู่ในแม่น้ำสายใหญ่ ๆ โดยได้รับการค้นพบครั้งแรกที่แม่น้ำอิรวดีในประเทศพม่า จึงเป็นที่มาของชื่ออิรวดี พบว่าทั่วโลกมีกลุ่มประชากรของโลมาอิรวดีที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดเพียง 5 แห่ง คือ 1) แม่น้ำอิรวดี ประเทศพม่า 2) แม่น้ำโขง ในส่วนที่เป็นของประเทศลาวและกัมพูชา 3) แม่น้ำมะหะขาม ประเทศอินโดนีเซีย 4) ทะเลสาบชิลิก้า ประเทศอินเดีย และ 5) ทะเลสาบสงขลา ของประเทศไทย
จากอดีตที่ได้มีการฟื้นฟูสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา โดยมีหลายหน่วยงานได้ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในวาระต่างๆ จำนวนมาก ในจำนวนนี้มีการปล่อยพันธุ์ปลาบึก ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ลงในทะเลสาบ ปัจจุบันปลาบึกโตมีขนาดใหญ่ และขายได้ราคา จึงมีการสร้างอวนจับปลาบึกเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว อวนปลาบึกเป็นอวนที่มีขนาดตาใหญ่และมีความยาวมากกว่า 1.5-3 กิโลเมตร และพื้นที่ทำการประมงอยู่บริเวณเดียวกับแหล่งอาศัยโลมา จึงเป็นเหตุให้โลมาติดอวนตายเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลการเกยตื้นตั้งแต่ปี 2549-2564 พบโลมาเกยตื้นตายบริเวณทะเลสาบสงขลาเฉลี่ยปีละ 6.26 ตัว โดยพบเกยตื้นมาก ในช่วงปี 2549-2557 ส่วนใหญ่ไม่สามารุระบุสาเหตุการตายได้เนื่องจากซากเน่ามาก รองลงมาคือติดอวนชาวประมง และการผสมแบบเลือดชิด จากรูปที่ 8 การเกยตื้นมีแนวโน้มลดลง หลังจากปี 2558 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2557-2558 มีการขอความร่วมมือ ยกเลิกการใช้อวนปลาบึก ในทะเลสาบสงขลา โดยจัดกิจกรรมทอดผ้าป่าเพื่อรวบรวมเงินจัดซื้ออวนปลาบึก อวนปลากะพง คืนจากชาวประมง จึงทำให้การเกยตื้นของโลมาอิรวดีเนื่องจากติดอวนลดจำนวนลง แต่ในปี 2563 – 2564 พบว่าชาวประมงบางรายเริ่มกลับมาทำการประมงอวนปลาบึกในทะเลสาบสงขลาตอนบน ส่งผลให้มีโลมาอิรวดีติดอวนตาย 2 ตัว ลูกโลมาตายเนื่องจากตัวอ่อนไม่แข็งแรง 1 ตัว.-สำนักข่าวไทย