สธ. 27 เม.ย.-สธ.เผยสถานการณ์สุขภาพจิตคนไทย พบวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้นมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ และทำร้ายร่างกายตัวเอง เพิ่มมากกว่าวัยทำงานถึง 4 เท่า เร่งจัดทำ รพ.คู่เครือข่ายพื้นที่ช่วยดูแล ทั้งรับปรึกษาและรักษา
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ พร้อมติดตามสถานการณ์สุขภาพจิตของวัยรุ่น โดยข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ 2560-2564 พบว่าอัตราจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จในวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น และทำร้ายร่างกายตนเอง เพิ่มมากขึ้นกว่าวัยทำงานถึง 4 เท่า ซึ่งอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในกลุ่มวัยเรียนอายุ 15-24 ปี ในปี 2564 เสียชีวิต 439 คน มากกว่าปี 2563 ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 428 คน ส่วนในกลุ่มวัยทำงานตอนต้น อายุ 25-34 ปี พบว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ในปี 2564 จำนวน 956 คน มากกว่าปี 2563 ที่มีจำนวน 896 คน
ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา ให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลคู่เครือข่ายพื้นที่ กับมหาวิทยาลัย รวมถึงราชภัฏ และเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อร่วมดูแลเด็กวัยเรียนในสถานศึกษา ช่วยเหลือส่งต่อเด็กที่มีปัญหาสภาพจิตใจ ส่งมายังสถานพยาบาล และมีนักจิตวิทยาช่วยเหลือ พร้อมกันนี้ยังพบว่าในปี 2564 คนไทยมีอัตราความเครียดสูง นำไปสู่การฆ่าตัวตาย สำเร็จอยู่ที่ 7.8 คน/แสนประชากร หรือกว่า 5,000 คน
ขณะเดียวกัน ประสาน สปสช.ให้เพิ่มขยายสิทธิประโยชน์ในการรักษาโรคจิตเภทให้ครอบคลุมมากขึ้น เพิ่มค่าเหมาจ่ายมากขึ้น และช่วยประสานให้การรักษาดูแลผู้ป่วยครอบคลุมทั้ง 3 สิทธิการรักษา โดยข้อมูลของ สปสช.ปี 2564 ค่าใช้จ่ายในกลุ่มผู้ป่วยโรคจิตเภทอยู่ที่ 6,000 บาท/ราย จำนวนผู้ป่วย 12,000 ราย/ปี รวม 72,000 คน ซึ่งพบผู้ป่วยอาการกำเริบซ้ำลดลง จาก 26% เหลือ 12% และลดค่าใช้จ่ายในการนอน รพ. 16,700 บาท/คน.-สำนักข่าวไทย