นนทบุรี 26 เม.ย.-รัฐมนตรีพาณิชย์ย้ำเตรียมแผนดูแลสินค้าทุกรายการหลังปล่อยดีเซลลอยตัวไว้แล้ว ชี้จะดูแลไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไปสินค้าจำเป็นขอความร่วมมือตรึงไว้ก่อน แต่หากจะขอขึ้นต้องได้รับการพิจารณาก่อน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวถึงแนวทางการดูแลสินค้าอุปโภคและบริโภคในช่วงที่มีการลอยตัวน้ำมันดีเซลในเดือน พ.ค.นี้เป็นต้นไปว่า โดยยอมรับว่าน้ำมันดีเซลที่จะลอยตัวมีทั้งผลดีและผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและการขนส่งอยู่บ้าง และได้สั่งการให้กรมการค้าภายในไปติดตามและดูแลอย่างใกล้ชิด โดยทุกฝ่ายทั้งผู้ปลูก ผู้ผลิตและผู้บริโภคจะต้องเกิดความเป็นธรรมและอยู่ร่วมกันได้บนพื้นฐานข้อเท็จจริง
“น้ำมันดีเซลเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนสินค้า แต่น้ำมันไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดของต้นทุนการผลิต โดยค่าขนส่งไม่ถึง 10% (สูงสุด 8.75%) ของต้นทุนสินค้า และค่าน้ำมันดีเซลคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย 40% ของต้นทุนค่าขนส่ง ดังนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดและน้ำหนักของสินค้าแต่ละรายการ น้ำมันดีเซลมีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าแต่ละรายการไม่เท่ากันโดยราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นทุกๆ 0.50 บาท ต่อลิตร จะมีผลต่อต้นทุนสินค้า 0.0002% – 0.08% กรณีปรับขึ้นทุกๆ 1 บาท ต่อลิตร จะมีผลต่อต้นทุนสินค้า 0.0004% -0.15% ดังนั้น การปรับราคาสินค้ากรมการค้าภายในจะมีสูตรการคำนวณต้นทุนสินค้าแต่ละชนิดอย่างชัดเจน คงไม่ปล่อยให้สินค้าปรับราคามากกว่าต้นทุนอย่างแน่นอน จึงอยากให้ประชาชนสบายใจแนวทางการดูแลของกระทรวงพาณิชย์ต่อราคาสินค้า”นายจุรินทร์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กรมการค้าภายในยังขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้า 18 หมวด ได้แก่ อาหารสด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ข้าวสารถุง ซอสปรุงรส น้ำมันพืช น้ำอัดลม นมและผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ซักล้าง ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง อาหารสัตว์ เหล็ก ปูนซีเมนต์ กระดาษ ยาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ และบริการผ่านห้างค้าปลีกค้าส่ง
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนดำเนินงานเพื่อลดภาระค่าครองชีพและเพิ่มช่องทางการซื้อสินค้าราคาประหยัดให้แก่ประชาชน โดยจัดทำโครงการ Mobile พาณิชย์…ลดราคา! ช่วยประชาชน จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพราคาถูกว่าท้องตลาด ลดสูงสุด 60% สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ไข่ไก่เบอร์ M คละใหญ่ เบอร์ 2-3 น้ำตาลทราย ข้าวสาร น้ำมันปาล์ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แชมพู สบู่ ซอสปรุงรส น้ำยาซักผ้า ยาสีฟัน หน้ากากอนามัย เป็นต้น สินค้าเกษตรตามฤดูกาล เช่น มะม่วง ทุเรียน สับปะรด เป็นต้น ซึ่งฝช่องการจำหน่ายแบ่งเป็น รถ Mobile 25 คัน และจุดจำหน่าย 75 จุด สถานที่จำหน่ายในพื้นที่เขต กทม. 50 เขต ตามแหล่งชุมชน เคหะชุมชน หรือสำนักงานเขต ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบจุดจำหน่ายได้ที่เว็บไซต์ของกรมการค้าภายใน ระยะเวลาดำเนินการเฟสนี้ในเดือนพ .ค.นี้อีกด้วย.-สำนักข่าวไทย