กรุงเทพฯ 28 ธ.ค.- นายกฯสั่งกระทรวงอุตฯ บรูณาการหน่วยงานเกี่ยวข้องพัฒนาเอสเอ็มอีแปรรูปสมุนไพร ให้เป็นรูปธรรมในปีหน้า
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้(27 ธ.ค.)นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเชื่อมโยงและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อขับเคลื่อน Smes ให้เป็นรูปธรรมในปีหน้าโดยเริ่มต้นเน้นที่กลุ่มเกษตรแปรรูปสมุนไพรซึ่งเป็นวัตถุดิบทางการเกษตรที่ช่วยสร้างรายได้ ท้องถิ่นและในหลายพื้นที่ โดยมีกระทรวงพาณิชย์ช่วยดูแลด้านการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศเนื่องจากจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรตั้งแต่ฐานรากและตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด โดยในวันพรุ่งนี้(29 ธ.ค.)จะมีการประชุมร่วมกันที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเริ่มต้นบูรณาการทำงาน สำหรับหน่วยงานที่จะร่วมบรูณาการทำงานร่วมกันประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขับเคลื่อนตามนโยบายที่ได้รับจากนายกรัฐมนตรี
ส่วนการปรับบทบาทและโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 จะมีการเสนอกรอบการปรับบทบาทและโครงสร้างใหม่ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบภายในเดือนมีนาคมปีหน้าเป็นอย่างช้า หลังจากนั้น จะเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยจะสามารถใช้โครงสร้างใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรมได้ในเดือนกรกฎาคมปี 2560
ส่วนงบประมาณสำหรับใช้ขับเคลื่อนกระทรวงอุตสาหกรรมนั้นตามการปรับบทบาทและปร้บโครงสร้างใหม่ จะเน้นไปในงานที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ประเทศไทย 4.0 เป็นหลักในขณะที่งบประมาณปี 61 กระทรวงอุตสาหกรรมจะจัดทำให้สอดรับกับแผนการทำงานปรับโครงสร้างใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเน้นสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) โดยเชื่อมโยงบรูณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ด้านการกำกับดูแลเข้มข้นยิ่งขึ้นให้เป็นตามกฎหมายกฎระเบียบพร้อมชี้แนะแนวทางการยกระดับให้ทันสมัยก้าวหน้ายิ่งขึ้น
การปรับโครงสร้างกระทรวง อุตสาหกรรมในด้านแรกจะเป็นการช่วยผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวได้รวดเร็วยิ่งขึ้นพร้อมกันนี้จะมีการสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจว่าการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติประเทศไทย 4.0 จะดำเนินการขับเคลื่อนทุกกลุ่มอุตสาหกรรมตั้งแต่ อุตสาหกรรม 0.5 ไปจนถึง 4.0 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้อุตสาหกรรมไทยก้าวทันโลก
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวถึงมีการปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมว่า การปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรม จะทำให้การทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมยืดหยุ่นมากขึ้น เน้นการสนับสนุนมากขึ้น พร้อมกับมีการกระจายอำนาจไปยังหน่วยงานท้องถิ่นมากขึ้นในทางปฏิบัติ การปรับโครงสร้างกระทรวงวอุตสาหกรรม จะมีการปรับเปลี่ยนใหม่จากที่เดิมมี 154 สํานัก การปรับโครงสร้างใหม่ จะมีผลทำให้มีสำนักเพิ่มขึ้น 10 และยุบสำนัก 2 สำนัก รวมเป็นหน่วยงานใหม่ 162 สํานักในจำนวนนี้มีการปรับเปลี่ยนบทบาท 124 สำนัก
การปรับโครงสร้างกระทรวงสหกรรมใหม่ จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกกลุ่มขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและพัฒนาผู้ประกอบการ ประกอบด้วย 2 หน่วยงานคือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.)ซึ่งจะเปลี่ยนชื่อเป็นกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ซึ่งจะเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาสาหกรรมแห่งชาติโดยมีพรบ.พัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติและกองทุนเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา มีกองขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ และมีสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ซึ่งจะเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานส่งเสริมผลิตภัณฑ์แห่งชาติโดยมีพรบ.ส่งเสริมผลิตภัณฑ์แห่งชาติรองรับ
กลุ่มงานที่ 2 คือสนับสนุนการประกอบการ ประกอบด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) โดยสมอ.จะเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานการมาตรฐานแห่งชาติ
กลุ่มงานที่ 3 คือ งานขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบขั้นต้นประกอบด้วย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) ซึ่งจะเปลี่ยนชื่อเป็นกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและวัตถุดิบ และมีสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)ซึ่งจะเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานคณะกรรมการอุตสาหกรรมชีวภาพ ขณะที่สำนักงานปลัดกระทรวง และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด จะคงอยู่ตามเดิมโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด จะดูแลผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในส่วนภูมิภาคทั้งหมด
ส่วนการปรับบทบาทสถาบันเครือข่ายทั้ง 11 หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมนั้นจะเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve -สำนักข่าวไทย