กรุงเทพฯ 5 เม.ย.-ผู้ส่งออกประเมินการส่งออกของไทยจะเติบโตได้ร้อยละ 5 ในปีนี้ หากการสู้รบรัสเซีย-ยูเครนไม่ขยายวงกว้างและค่าเงินบาททรงตัวที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ยอมรับหากการสู้รบยืดเยื้อกระทบการส่งออกของไทยในไตรมาส 2 คำสั่งซื้ออาจจะลดลง 4,000-5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)เปิดเผยว่า จากการติดตามและประเมินผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย–ยูเครน และมาตรการตอบโต้ด้านการค้าและการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป คาดการณ์เบื้องต้นว่าอาจมีผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของต้นทุนภาคการผลิต ทั้งจากราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบปรับตัวขึ้น อาทิ เหล็ก ธัญพืช เซมิคอนดักเตอร์ อาจส่งผลให้คำสั่งซื้อจากคู่ค้าลดลงบางส่วน หากสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ไม่ขยายวงกว้างไปมากกว่านี้ และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับ 33 บาท สรท. ประเมินว่าการส่งออกของไทย ปี 2565 จะยังเติบโตได้ที่ร้อยละ 5 (ณ เมษายน 2565) โดยการส่งออกในไตรมาสแรกจะสามารถเติบโตได้ที่ร้อยละ 8 เนื่องจากมีการยืนยันคำสั่งซื้อไว้แล้วล่วงหน้า แต่หากสถานกาณ์ยังคงยืดเยื้ออาจกระทบต่อการส่งออกในไตรมาสสอง โดยอาจมีคำสั่งซื้อลดลงประมาณ 4,000-5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 2 เติบโตที่ร้อยละ 2-4
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ สถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างยูเครนและรัสเซีย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้าระหว่างประเทศและปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องซึ่งอาจทำให้มีการหยุดชะงักหรือชะลอตัวในภาคการผลิตเพื่อส่งออก จึงมีความจำเป็นที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ราคาพลังงาน (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ทรงตัวในระดับสูง ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, แร่หายาก, โลหะหายาก อาทิ นีออน แพลเลเดียม และแพลตตินัม, สินค้าธัญพืชที่เป็นวัตถุดิบ เช่น ข้าวสาลี, ข้าวโพด, ดอกทานตะวัน, วัตถุดิบที่ใช้ทำปุ๋ยขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต และต้นทุนการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องและปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือประเทศปลายทาง ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า นอกจากนี้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 “โอไมครอน” ในจีนประกาศล็อคดาวน์เซียงไฮ้ และเมืองสำคัญ อาจทำให้การค้าขายกับจีนมีการชะลอตัวไปบ้างเล็กน้อย อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามและประเมินสถานการณ์การอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะของสรท. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รักษาเสถีรยภาพค่าเงินบาทไม่ให้ต่ำกว่า 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับต้นทุนในส่วนอื่น คงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.5 เพื่อประคองให้การฟื้นตัวภาคธุรกิจยังคงดำเนินการได้ต่อเนื่อง เร่งเสริมสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจ ภาคส่งออก นำเข้า ภาคบริการ เพื่อเสริมให้เศรษฐกิจในภาพรวมเติบโตได้ เร่งมองหาช่องทางขยายตลาดเพิ่มเติมทั้งกลุ่มตลาดศักยภาพระดับรองที่อาจเป็นโอกาสของสินค้าไทยรวมถึงตลาดที่สามารถทดแทนกลุ่มสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอคำสั่งซื้อจากกลุ่มประเทศกรณีพิพาท ขอให้ภาครัฐช่วยควบคุมต้นทุนภาคการผลิตตลอดโซ่อุปทาน อาทิ ค่าไฟ ค่าขนส่ง ค่าวัตถุดิบขั้นกลางสำหรับการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องพิจารณาเรื่องความมั่นคงในด้านต่างๆ มากขึ้นจากประเด็นกรณีพิพาทของรัสเซีย ยูเครน ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก อาทิ ความมั่นคง ด้านอาหาร ด้านพลังงาน/พลังงานทางเลือก ด้านวัตถุดิบในการผลิตสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ด้านการเงิน -สำนักข่าวไทย