กรุงเทพฯ 1 เม.ย. – สำรวจป้ายหาเสียงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หลังได้เบอร์อย่างเป็นทางการ บริเวณเขตดินแดง พญาไท อนุสาวรีย์ชัยฯ พบป้ายบนทางเท้ามากขึ้น กทม.ย้ำศึกษาจุดห้ามปิดประกาศให้ดี เจ้าหน้าที่เขตสามารถเข้ารื้อออกได้ทันที หากวางป้ายผิดที่
ทีมข่าวสำรวจการปิดประกาศป้ายหาเสียงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. หลังวานนี้เปิดรับสมัครวันแรกและจับสลากได้เบอร์อย่างเป็นทางการ เช่น บริเวณริมทางเท้าฟุตบาท เขตดินแดง พบป้ายผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ติดบริเวณเสาไฟฟ้า สังเกตว่าบางป้ายวางชิดกับพื้นกลางฟุตบาท ทำให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมาต้องเดินหลบ
ส่วนบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พบว่ายังมีป้ายบางตา พบเพียงป้ายของผู้สมัครผู้ว่าฯ และ ส.ก.บางคน ซึ่งมีการปรับขนาดให้เล็กกระทัดรัดลงในจุดนี้ โดยคาดว่าอาจเป็นเพราะจุดนี้มีช่องทางจราจรหลายช่องที่อาจเสี่ยงเป็นจุดที่ไม่สามารถปิดประกาศได้ ตามที่ กกต.กทม.ประกาศไว้
ขณะที่จากการสังเกตป้ายของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หลายคน โดยส่วนใหญ่เป็นขนาดที่ กกต.กำหนด คือ ขนาดกว้าง 130 เซนติเมตร (1.30 เมตร) ยาว 245 เซนติเมตร (2.45 เมตร) บนป้ายปรากฏภาพผู้สมัคร พร้อมเบอร์ และสโลแกน โดยป้ายแต่ละคนใช้สีที่โดดเด่นตามสีเอกลักษณ์ของพรรค หรือสีหลักที่ใช้หาเสียงเพื่อให้เป็นที่จดจำ ดึงดูดสายตา เช่น ป้ายของ เบอร์ 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เน้นภาพดูยิ้มเป็นมิตร สวมเสื้อเชิ้ตแบบสบาย ๆ พร้อม#ทีมอัศวิน สีหลักที่ใช้บนป้าย คือ น้ำเงิน เหลือง
ส่วนของผู้สมัคร เบอร์ 1 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สีหลักบนป้าย คือ สีส้ม บนป้ายเป็นภาพนายวิโรจน์ สวมเชิ้ตขาว ดูเป็นมิตร แต่ท่าทางดูมุ่งมั่นและจริงจัง โดยพบว่ามีทำไว้ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก เพื่อหลีกเลี่ยงการขวางทางเดินบนทางเท้า ตาม concept นายวิโรจน์เคยกล่าวไว้ว่าจะไม่ปิดป้ายหาเสียงที่ทำให้คนเดินถนนได้รับความลำบาก
ขณะที่ป้ายของ ผู้สมัครเบอร์ 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ซึ่งเคยออกตัวไปว่าใช้แนวคิดป้ายหาเสียงแบบรักเมือง จะมีป้ายจำนวนไม่มากในแต่ละเขต โดยบนป้ายปรากฏภาพนายชัชชาติ กำลังยิ้มดูสบาย ๆ และเป็นมิตร พร้อมข้อความสโลแกน “ชัชชาติอาสาผู้ว่าฯ กรุงเทพ” และที่แตกต่างจากผู้สมัครคนอื่น คือ มีการลิ้งค์ไปที่ช่องทางออนไลน์ทางเว็บไซต์และ Facebook ของตนเองด้วย นอกจากผ้าใบบนแผ่นป้ายเมื่อเสร็จสิ้นการเลือกตั้งก็จะนำมาทำกระเป๋าผ้าใบใช้ต่อไปได้ตาม concept รักษ์โลกด้วย
ก่อนหน้านี้ กกต.กทม.ได้ประกาศข้อกำหนด หลักเกณฑ์และสถานที่ปิดประกาศ สำหรับสถานที่ห้ามปิดประกาศ ได้แก่ ผิวการจราจร เกาะกลางถนน สะพานลอยเดินข้ามและสะพานลอยรถข้าม รวมทั้งส่วนประกอบของสะพาน รั้วและแผงเหล็กริมถนน ป้ายจราจรและสัญญาณไฟจราจร ป้ายประกาศของทางราชการ รั้วหรือกำแพงหรือผนังอาคารของทางราชการ ต้นไม้และเสาไฟฟ้าบริเวณเกาะกลางถนน แนะหากต้องการติดป้ายตามทางเดินริมถนนนทำได้ แต่ต้องไม่ขวางทางเท้า และในบางจุด เช่น ปากซอยต้องติดระยะห่างจากปากซอยอย่างน้อย 10 เมตร เป็นต้น โดยขอให้ผู้สมัครศึกษารายละเอียด และปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศอย่างเคร่งครัด.-สำนักข่าวไทย