กรุงเทพฯ 6 ส.ค. – ผู้ว่าฯ กทม. พอใจน้ำระบายไวในพื้นที่เสี่ยง เตรียมพร้อมรับฝนหนักเดือน ส.ค. จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง 24 ชม. พร้อม AI พยากรณ์อากาศแม่นยำ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมเดือนสิงหาคม ก่อนเข้าประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร เมื่อวันที่ 5 ส.ค.67 ว่า กทม. ได้วิเคราะห์การแก้ปัญหาน้ำท่วมมาตลอด ทั้งในระดับเส้นเลือดใหญ่และระดับเส้นเลือดฝอย เส้นเลือดใหญ่ของ กทม. คืออุโมงค์ยักษ์และระบบอุโมงค์หลักในการระบายน้ำ รวมถึงระบบประตูระบายน้ำต่าง ๆ ส่วนเส้นเลือดฝอย คือ การขุดลอกคูคลองและลอกท่อระบายน้ำ ซึ่งดำเนินการไปกว่า 90% ตามเป้าหมาย นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์จุดเสี่ยงน้ำท่วมกว่า 577 จุด โดยการถอดบทเรียนจากปัญหาน้ำท่วมปีที่ผ่านมา ซึ่ง กทม. เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาในจุดหลักแล้วกว่า 50% แต่บางครั้งการระบายน้ำอาจต้องใช้เวลาสักเล็กน้อย ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์ทั้งหมดน่าจะดีขึ้น
ที่ผ่านมา มีฝนตกในพื้นที่เขตบางนา ปริมาณน้ำฝนกว่า 70 มิลลิเมตร แต่ กทม.ก็สามารถระบายน้ำได้รวดเร็ว มีเพียงแยกเดียวที่ได้รับผลกระทบ คือ บริเวณแยกถนนศรีนครินทร์ตัดกับถนนบางนา-ตราด และก่อนหน้านั้น คืนก่อนมีฝนตกหนักบริเวณฝั่งธนบุรี ทำให้ถนนเพชรเกษมมีน้ำท่วมขังแต่ก็ยังสามารถระบายน้ำได้ภายในครึ่งชั่วโมง เนื่องจาก กทม. มีศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร ซึ่งคอยเฝ้าสังเกตการณ์ วิเคราะห์และพร้อมแก้ไขปัญหา รวมถึงมีเจ้าหน้าที่พร้อมลงพื้นที่แก้ไขปัญหาตลอด 24 ชั่วโมง
สิ่งที่วิตกกังวลคือการเกิดฝนตกหนักเฉพาะจุด หรือ ปรากฎการณ์ Rain Bomb ที่อาจส่งผลกระทบพื้นที่จุดอ่อนในกรุงเทพฯ ดังนั้น กทม. จึงต้องเพิ่มเติมในส่วนของการพยากรณ์ให้แม่นยำมากยิ่งขึ้นว่าฝนกำลังจะตกหนักในพื้นที่ใด เพื่อจัดเตรียมทรัพยากรให้พร้อมล่วงหน้ารองรับสถานการณ์ เช่น รถสูบน้ำเคลื่อนที่ อุปกรณ์เครื่องมือ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เป็นต้น สำหรับขณะนี้มีจุดที่เป็นห่วงคือคลองเปรมประชากรที่เป็นคลองหลัก ซึ่งจะรองรับน้ำจากคลองย่อยหลายคลองในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ปัญหาในปัจจุบันคือยังมีการก่อสร้างเขื่อนไม่เสร็จ และยังมีบ้านรุกล้ำคูคลอง โดยปัญหาดังกล่าวอยู่ย่านดอนเมืองและบริเวณซอยช่างอากาศอุทิศ ซึ่งได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไข และอีกคลองที่เป็นห่วงคือคลองประเวศบุรีรมย์ย่านลาดกระบังที่ยังเป็นจุดอ่อนอยู่ ซึ่งได้ดำเนินการให้เร่งระบายน้ำไปลงคลองบางซื่อโดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม และเร่งขุดลอกคูคลองบริเวณที่เกี่ยวข้องแล้ว
ในส่วนของการใช้ AI ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม กทม. นำมาใช้ในเรื่องของการรวบรวมข้อมูลมากกว่า เพื่อให้ข้อมูลมีความละเอียดมากขึ้น รวมถึงนำมาใช้ในเรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการพยากรณ์ฝน ส่วนเรื่องของการวัดระดับน้ำยังไม่ได้ใช้ AI เข้ามาเกี่ยวข้องมากขนาดนั้น ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถาม ขอความช่วยเหลือ หรือแจ้งปัญหาน้ำท่วมได้ที่ ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2248 5115 (ตลอด 24 ชั่วโมง) ศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ สายด่วน กทม. โทร.1555 หรือ Traffy Fondue.-411-สำนักข่าวไทย