นนทบุรี 29 มี.ค. – เครือข่ายไฟฟ้าประปาและยา เพื่อชาติประชาชน (คฟปย.) ซึ่งประกอบด้วยสหภาพแรงงานที่เป็นองค์กรด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เสนอรัฐทบทวนนโยบายขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) โดยเฉพาะเอกชนผู้ผลิตต้องมีส่วนร่วมลดค่าไฟฝ่าวิกฤติพลังงานแพง และเพิ่มสัดส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าของภาครัฐตามรัฐธรรมนูญ
เครือข่ายไฟฟ้าประปาและยา เพื่อชาติประชาชน (คฟปย.) ประกอบด้วย สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปานครหลวง สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม จัดประชุมเสวนาถึงสถานการณ์ปัจจุบัน เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลต่อภาวะการครองชีพของประชาชน ต่อการต่อสู้กับโรคโควิด-19 หลังรัฐบาลมีนโยบายปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) การปล่อยให้เอกชนเข้ามาดำเนินการขายน้ำประปาในเขตภาคตะวันออก และการจัดหายาเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 โดย คฟปย. ระบุว่า ทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากยิ่งขึ้น ทาง คฟปย. จึงทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนในหลายนโยบายดำเนินการ ได้แก่
- ทบทวนนโยบายขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) โดยเฉพาะเอกชนผู้ผลิตต้องมีส่วนร่วม และเพิ่มสัดส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าของภาครัฐตามรัฐธรรมนูญให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 จากปัจจุบันภาครัฐผลิตเพียงร้อยละ 32 ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้า
- รัฐบาลต้องคงไว้ซึ่งรัฐวิสาหกิจด้านสาธารณูปโภค รัฐจะต้องดูแลต้นทุนต่างๆ เช่น การเรียกเก็บค่าเช่าพื้นที่ในการวางท่อประธานหรือท่อจ่ายน้ำ เช่น พื้นที่ของกรมทางหลวงและกรมธนารักษ์ (วงเงินประมาณ 2 พันล้านบาท) ในเขตพื้นที่ภูมิภาคในเรื่องน้ำประปา ที่ปล่อยให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น ภาคตะวันออก จังหวัดปทุมธานี รัฐบาลต้องใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล และกำหนดราคาที่เป็นธรรมต่อประชาชน
- รัฐบาลต้องมีนโยบายสนับสนุนให้องค์การเภสัชกรรม ผลิตยา วัคซีน และเวชภัณฑ์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก มีคุณภาพ และราคาถูกอย่างพอเพียง
- รัฐบาลต้องไม่ขายรัฐวิสาหกิจ อันเป็นสมบัติของชาติ และต้องไม่ทำให้รัฐวิสาหกิจอ่อนแอจนไม่สามารถดำเนินการได้
“คฟปย.ขอยืนยันเจตนารมณ์เพื่อคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม และในส่วนของค่าไฟฟ้า Ft ปัจจุบันต้นทุนสูง แม้จะมาจากค่าเชื้อเพลิงเป็นส่วนใหญ่ แต่บางส่วนก็ลดลงได้ โดยเฉพาะค่ารับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ได้รับการอุดหนุน 6-8 บาท/หน่วย และควรเจรจาเอกชน เช่น ไอพีพี ที่มีกำไรสูง ก็ควรจะมาร่วมรับวิกฤติของประชาชนครั้งนี้ ด้วยการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าเช่นกัน ไม่ใช่ให้ 3 การไฟฟ้าร่วมแบกรับภาระเท่านั้น โดยเฉพาะ กฟผ. มาร่วมแบกรับ Ft เกือบ 4 หมื่นล้านบาท ถือว่าไม่เป็นธรรม” นายกิตติชัย ใสสะอาด ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระบุ. – สำนักข่าวไทย