กรุงเทพฯ 14 มี.ค.-19 องค์กรสาธารณสุข ร่วมจัดทำประกาศ “5 กลุ่มเสี่ยงที่ไม่ควรดื่มสุราโดยสิ้นเชิง” หวังเปลี่ยนมุมมองสร้างความตระหนักต่อสุขภาพ เผยคร่าชีวิตคนทั่วโลกปีละ 3.3 ล้านรายโรคร้าย 200 ชนิด
ในเวทีเสวนาข้อแนะนำสำหรับผู้ไม่ควรดื่มสุราใครไม่ควรดื่ม จัดโดย 19 องค์กรด้านสุขภาพอาทิศูนย์วิจัยปัญหาสุรา, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) , กระทรวงสาธารณสุข , ราชวิทยาลัยแพทย์สาขาต่าง ๆ ได้ชี้ให้เห็นหลักฐานทางวิชาการทั้งในประเทศและทั่วโลกที่ปรากฏ ชัดเจนว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าเป็นรูปแบบของเบียร์สุราเหล้าไวน์หรืออื่น ๆ ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคและอันตรายต่างๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจแก่ผู้อื่น นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดอุบัติเหตุและความรุนแรงโดยเฉพาะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยป่วยและตายก่อนวัยอันควรจำนวนมาก
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ กรรมการกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ชี้ว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีงานวิชาการหลายเรื่องออกมาแสดงให้เห็นถึงอันตรายของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต่อสุขภาพและสร้างปัญหาให้สังคม เช่น ความรุนแรงในครอบครัว , อาชญากรรม ทำให้กระทรวงสาธารณสุขจับมือ 19 องค์กรจัดทำคำแนะนำเพื่อเตือน 5 กลุ่มคนที่ไม่ควรดื่มเด็ดขาดคือ 1.เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี,2.หญิงตั้งครรภ์และหญิงที่ให้นมบุตร ,3.ผู้มีอาชีพขับรถและทำงานกับเครื่องจักรกล, 4.ผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่นตับไตหัวใจปอดสมองโรคทางจิต และกลุ่มสุดท้ายคือประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ดื่มอยู่แล้วควรงดดื่มต่อไป เพราะไม่ว่าจะดื่มในปริมาณเท่าใด องค์การอนามัยโลกหรือหน่วยงานสาธารณสุขใดๆก็ไม่มีการยอมรับว่าดื่มน้อยขนาดใดที่จะปลอดภัยต่อสุขภาพ เนื่องจากประกาศเดือนนี้จะทำให้สังคมตระหนักถึงอันตราย ยังหวังให้หน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยควบคุมส่วนที่ยังเป็นปัญหา เช่นในท้องถิ่นและทุกชุมชน
พญ.สาวิตรี อัษณางกรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ยกตัวอย่างพิษสุราที่มีผลต่อสมองเด็กและเยาวชนที่กำลังเจริญเติบโตว่าจะทำให้สมองขาดการพัฒนาอย่างเต็มที่ทำให้การตัดสินใจต่าง ๆ แย่ลงขาดความยับยั้งชั่งใจก่อปัญหาขาดการเรียนทะเลาะวิวาท ขับขี่ยานพาหนะบกพร่อง หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันรวมทั้งภาวะซึมเศร้าฆ่าตัวตายและใช้สารเสพติด ที่น่าห่วงคือหญิงตั้งครรภ์ที่หากดื่ม จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสติ ปัญญาและพฤติกรรมทารก เช่นคลอดก่อนกำหนด แท้งบุตร สมองพัฒนาผิดปกติทารกที่เป็นโรคที่เกิดจากแอลกอฮอล์ทำลายสมองจะมีใบหน้ารูปร่างผิดปกติ
ขณะที่ผู้ติดสุรา ยังเพิ่มความเสี่ยงโรคติดสารเสพติดชนิดอื่น ๆ ซึมเศร้าโรคไบโพลาร์ไม่นับโรคเบาหวานความดันโลหิตสูง โดยประกาศคำแนะนำคำเตือนสำหรับกลุ่มที่ไม่ควรดื่มสุรา 5 กลุ่มเสี่ยงจะถูกนำเสนอให้ภาครัฐได้รับรู้เพื่อขยายผลความรับผิดชอบให้เพิ่มขึ้น.-สำนักข่าวไทย