นครสวรรค์ 3 มี.ค. – รัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้งประจำปี 2565 รวม 10 หน่วย มุ่งช่วยเกษตรกร เติมน้ำต้นทุนลงเขื่อน ดับไฟป่า ลดความรุนแรงของพายุลูกเห็บ บรรเทาหมอกควันและฝุ่น PM2.5
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2565 ที่สนามบินนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ โดยระบุว่า ในขณะนี้หลายพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศเริ่มมีสถานการณ์ภัยแล้งเกิดขึ้น น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ มีลดลงตามลำดับ อีกทั้งสถานการณ์การเกิดไฟป่า ปัญหาหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐานจะรุนแรงขึ้น รวมไปถึงแนวโน้มการเกิดพายุลูกเห็บในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั้งนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 10 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ โดยได้น้อมนำศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติการป้องกันและช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว โดยปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป ดังนี้
– ภาคเหนือตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ตาก
– ภาคเหนือตอนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.แพร่ และ จ.พิษณุโลก
– ภาคกลาง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.นครสวรรค์ และ จ.กาญจนบุรี
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.อุดรธานี
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.บุรีรัมย์
– ภาคตะวันออก ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.จันทบุรี
– ภาคใต้ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งฐานเติมสารฝนหลวง 2 แห่ง ที่ จ.ขอนแก่น และ จ.ระยอง โดยใช้เครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร 24 ลำ และได้รับการสนับสนุนเครื่องบินกองทัพอากาศ ชนิด ALPHA JET 1 ลำ
ด้าน นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มีการจัดตั้งปฏิบัติการฝนหลวง 4 หน่วยปฏิบัติการ เพื่อติดตามสถานการณ์และช่วงชิงสภาพอากาศในการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและความต้องการน้ำในบางพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนืออีกด้วย
ทั้งนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มกำลังความสามารถ และจะร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งในด้านข้อมูลสภาพอากาศ ปริมาณน้ำ การวิเคราะห์-วิจัยข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือประชาชนและพื้นที่การเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด.-สำนักข่าวไทย