รัฐสภา 3 มี.ค.- “หมอระวี” เผยการยื่นขอควบรวมกิจการของทรูกับดีแทค จะก่อให้เกิดการผูกขาดทางการค้า ขณะที่ กสทช. ปัดไม่มีอำนาจสั่งระงับ
นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูกับดีแทค และการค้าปลีกค้าส่ง เปิดเผยว่า จากการศึกษาและประชุมของกรรมาธิการตลอด 6 ครั้งที่ผ่านมา พบว่าการยื่นขอควบรวมกิจการของทรูกับดีแทค จะก่อให้เกิดการผูกขาดทางการค้า เพราะบริษัทใหม่จะครอบครองตลาดเกิน 50% และลดการแข่งขันในภาพรวม เนื่องจากจะเหลือผู้ประกอบการเพียงสองเจ้าคือ เอไอเอส กับบริษัทใหม่ ซึ่งตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจ การโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ยอมรับว่า ดัชนีวัดการกระจุกตัว (HHI) จะเกิน 2500 และค่า HHI จะเพิ่มขึ้นเกิน 100 ใกล้เคียงกับการศึกษาของ TDRI ซึ่งแสดงว่าการควบรวมกิจการจะส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างชัดเจน
นพ.ระวี กล่าวต่อว่า กสทช. ให้ความเห็นกับ กมธ.ว่าอำนาจของ กสทช. ตาม พ.ร.บ. และประกาศ กสทช. หลายฉบับ ไม่สามารถระงับการควบรวมกิจการในครั้งนี้ได้ ทำได้เพียงกำกับดูแลและออกมาตรการต่างๆ เท่านั้น ซึ่ง กมธ. เสนอว่าหากพิจารณาแล้วเป็นการผูกขาดทางการค้าและเป็นอันตรายต่อการแข่งขันเสรี กสทช. จำเป็นต้องออกประกาศฉบับใหม่ในปี 2565 เพื่อระงับการควบรวม ขณะที่ กขค. ได้ยืนยันว่าสำหรับกิจการโทรคมนาคมเป็นอำนาจของ กสทช. ในการพิจารณาดูแลและควบคุม ทั้งนี้ ปัจจุบันคณะกรรมการ กสทช.(ชุดใหม่) ถูกคัดเลือกมาได้เพียง 5 คน อยู่ระหว่างการคัดเลือกจากวุฒิสภาอีก 2 คน ทำให้คณะกรรมการชุดเดิมต้องทำหน้าที่ไปก่อน
นพ.ระวี กล่าวว่า ปัจจุบัน กมธ. ยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรเพื่อผู้บริโภค โดยเชื่อว่ากรอบการทำงานเวลา 90 วันของ กมธ. นั้นเพียงพอที่จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนและเปิดเผยอย่างเป็นทางการต่อประชาชน สำหรับบทบาทของ กมธ. ปัจจุบันมีหน้าที่หลักในการศึกษาแต่ยอมรับว่าไม่สามารถแทรกแซงกระบวนการตามสิทธิของภาคเอกชนได้ เช่น การประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทหรือระหว่างบริษัท
“จุดยืนของ กมธ. ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชน กมธ. เกือบทุกคน คัดค้านการควบรวมในลักษณะที่ส่งผลต่อการผูกขาดอยู่แล้ว และเป็นห่วงผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้น หากผลจากการศึกษาพบว่ามีแนวโน้มที่จะผูกขาดลดการแข่งขันในระดับที่เป็นอันตราย กมธ.จะเสนอต่อหน่วยงานของรัฐ หามาตรการยับยั้งไม่ให้เกิดการควบรวมกิจการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม” นพ.ระวี กล่าว
ส่วนแนวคิดจะทำประชาพิจารณ์เพื่อหาข้อสรุปหรือไม่นั้น นพ.ระวี ระบุว่ายังไม่มีการพูดคุยในระดับนั้น ทั้งนี้ การประชุมของ กมธ.นัดล่าสุด (2 มี.ค.) ได้เชิญตัวแทนจาก ทรู ดีแทค และเอไอเอส เข้ามาให้ข้อมูล ซึ่ง นพ.ระวี เปิดเผยว่า ทรูและดีแทค ยืนยันว่าจำเป็นต้องควบรวม เพื่อการพัฒนาและความอยู่รอดในอนาคตของบริษัท พร้อมกับย้ำว่าผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ ขณะที่เอไอเอสให้ความเห็นว่าภายหลังการควบรวมดังกล่าวคาดว่าจะทำให้เป็นเรื่องยากที่จะมีบริษัทหน้าใหม่เข้ามาเป็นคู่แข่งขันในตลาดเพิ่มเติม.-สำนักข่าวไทย