สำนักข่าวไทย 1 มี.ค. – วันแรกเปิดให้บริการรักษาผู้ป่วยโควิดแบบ OPD ย้ำส่วนใหญ่ผู้ป่วยเป็นกลุ่มสีเขียวไม่แสดงอาการ อาจไม่ได้รับยาเสมอไป เน้นจ่ายยาตามอาการ
นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผอ.รพ.ราชวิถี กล่าวว่า หลังจากที่ทางกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเพิ่มช่องทางการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด แบบระบบ OPD รักษาแบบผู้ป่วยนอกเป็นทางเลือกด้วยความสมัครใจ ที่จะให้บริการวันนี้ (1 มี.ค.) เป็นวันแรกนั้น การปรับเปลี่ยนนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่พบว่า ที่มีผู้ป่วยมารับบริการที่ ARI Clinic ของ รพ.ราชวิถี หรือระบบดูแลผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 200-300 คน ทำให้ระบบการทำงานต้องแบ่งเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่ง ดูแลผู้ป่วยในคลินิก และติดตามผู้ป่วยในระบบ Home Islation และอาจทำให้ผู้ป่วยต้องรอการติดต่อนาน แต่การคัดกรองแบบระบบ OPD จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่เร็วขึ้น ซึ่งเป็นการแยกคัดกรองในกลุ่มสีเขียว บางคนเป็นสีเขียวเข้มไม่มีอาการอะไรเลย และบางคนเป็นสีเขียว ที่มีอาการเล็กน้อย หากคุยกันเข้าใจก็สามารถเข้าระบบ HI ได้ทันที หรือบางคนที่มาสามารถแสดงผล ATK ตรงก็จะได้นำเข้าระบบเลย หรือถ้าต้องการพบแพทย์ก็สามารถทำได้แต่ต้องรอคิว ซึ่งสถานการณ์โควิดปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวที่ไม่มีอาการ การจ่ายยาก็จะดำเนินการตามความเหมาะสมกับผู้ป่วย เพราะไม่ใช่ทุกรายต้องได้รับยา ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธาณสุขวางไว้
กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยไม่มีอาการพบกว่า 90% อยากให้มีการรักษาที่บ้าน หรือแบบผู้ป่วยนอก อาจจะมีอาการคันคอ จะไม่มีการให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากหายเองได้ และไม่ต้องเสี่ยงจากผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ตาสีฟ้า เสี่ยงดื้อยา และไม่แนะนำใช้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะตั้งครรภ์อ่อน ๆ เพราะพบว่ามีผลต่อตัวอ่อนในสัตว์ทดลอง อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้อาจจะพิจารณาให้ฟ้าทะลายโจรให้ตามดุลพินิจแพทย์ แต่ไม่ให้ในเด็ก คนท้อง คนป่วยโรคตับ
กลุ่มที่ 2 กรณีมีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่มีโรคร่วม แพทย์เป็นคนพิจารณาว่าจะให้ฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ หากให้ต้องหยุดกินฟ้าทะลายโจร อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบเชื้อมีอาการเกิน 5 วันแล้วการให้ยาต้านอาจจะไม่มีประโยชน์แล้ว
กลุ่มที่ 3 กรณีผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุ 65 ปีขึ้น มีโรคร่วม แพทย์พิจารณาแอดมิทใน รพ.เพราะเสี่ยงที่โรคจะพัฒนารุนแรงขึ้น ส่วนยาที่ใช้จะมีหลายตัว
กลุ่มที่ 4 ซึ่งอาการรุนแรงนั้นอยู่ใน รพ.อยู่แล้ว แพทย์จะพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม โดยตลอดการรักษาแบบ OPD ยังคงอยู่ที่บ้านกักตัว 7 วันเป็นอย่างน้อย และมีการตรวจ ATK ในวันที่ 5-6 หากไม่พบก็สามารถใช้ชีวิตตามปกติ แต่ก็งดการรวมตัวกันจำนวนมาก. -สำนักข่าวไทย