กรุงเทพฯ 15 ก.พ. – กทม.สั่งการ 50 เขต เปิดศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อฯ เพิ่ม หากมีผู้ป่วยครองเตียงเกิน 80% พร้อมเผยช่วง 1 ม.ค.-13 ก.พ.ที่ผ่านมา พบคลัสเตอร์ระบาดหลายแห่ง ทั้งสถานศึกษาตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาล-มัธยมศึกษา ในแคมป์คนงานก่อสร้าง และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ กทม. รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงการเตรียมพร้อมสถานพยาบาลเพื่อผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในวันนี้ (15 ก.พ.) พื้นที่กรุงเทพมหานคร พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ จำนวน 3,180 ราย และมีผู้เสียชีวิต จำนวน 8 ราย นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-13 ก.พ.ที่ผ่านมา พบการระบาดในสถานศึกษา ตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาล-มัธยมศึกษา หลายแห่ง โดยพบผู้ติดเชื้อทั้งในกลุ่มครู นักเรียน และกลุ่มนักเรียนที่เก็บตัวฝึกซ้อมในโรงเรียน จากการสอบสวนโรคพบว่า สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงในการระบาด ได้แก่ การติดเชื้อจากบุคคลในครอบครัว การติดเชื้อของครูผู้สอน การติดเชื้อจากจุดสัมผัสที่ใช้ห้องน้ำร่วมกัน และการทำกิจกรรมร่วมกันโดยที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย
นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อในแคมป์คนงานก่อสร้าง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเกิดจากการรับประทานอาหารร่วมกัน การดื่มน้ำจากกระติกเดียวกัน และการรวมกลุ่มพูดคุยโดยไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัย การติดเชื้อในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากผู้ที่มาจากข้างนอกศูนย์ฯ สัมผัสเชื้อหรือติดเชื้อ และนำมาแพร่สู่ผู้สูงอายุในศูนย์ฯ โดยขณะนี้มีอัตราผู้ป่วยครองเตียงในโรงพยาบาล ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักการแพทย์ ร้อยละ 94.38 โรงพยาบาลสนาม ร้อยละ 83.68 Hospitel ร้อยละ 100 และศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ ร้อยละ 36.28 อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้กรุงเทพมหานครได้ให้บริการวัคซีนกับกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์) เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อและการเกิดอาการรุนแรงของโรค ไปแล้วกว่า 2,214,467 คน โดยเป็นวัคซีนเข็มที่ 1 ร้อยละ 90.72 เข็มที่ 2 ร้อยละ 82.69 และเข็มที่ 3 ร้อยละ 41.02
ทั้งนี้ เนื่องจากมีแนวโน้มผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้ 50 เขต พิจารณาเปิดศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเพิ่มเติม ในกรณีที่ศูนย์พักคอยฯ ซึ่งเปิดดำเนินการอยู่แล้ว มีจำนวนผู้ป่วยครองเตียงมากกว่าร้อยละ 80 และให้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบช่องทางการติดต่อ หากพบว่าตนเองติดเชื้อ โดยสามารถโทรแจ้งได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 และศูนย์ EOC ของ 50 สำนักงานเขต ได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สร้างความเข้าใจให้แก่สถานบริการที่แจ้งความประสงค์ปรับรูปแบบร้านเป็นร้านอาหารและได้รับอนุญาตแล้ว จำนวน 483 แห่ง ให้เข้ารับการประเมินมาตรฐาน Thai Stop Covid2Plus เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนหรือผู้มาใช้บริการ.-สำนักข่าวไทย