กรุงเทพฯ 9 ก.พ. – GPSC เดินหน้า เดินหน้า SPP ทดแทน96 MW เข้าระบบปี 67 จ้างกลุ่มกลุ่ม Jurong ก่อสร้าง มูลค่าราว 4,000 ล้านบาท ด้าน TPIPPเผยได้ประโยชน์จากค่า FT ขยับขึ้น ปรับแผนใช้ขยะทดแทนถ่านหิน
นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท โกลว์ เอสพีพี 2 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่ม GPSC ได้ลงนามในสัญญาก่อสร้าง (EPC: Engineering, Procurement and Construction) กับ บริษัท จูรอง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (สิงคโปร์) หรือ Jurong Engineering Limited (Singapore) และ บริษัท ไทย จูรอง เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด หรือ Thai Jurong Engineering Limited เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP (Small Power Producer) ขนาดกำลังการผลิต 48 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง หรือคิดเป็นกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 96 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง คาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงต้นปี 2567
โดยโครงการจะขายไฟฟ้าเข้าระบบของ กฟผ. (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) จำนวน 2 สัญญา รวม 60 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 25 ปี ภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าทดแทน (SPP Replacement) ส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนที่เหลืออีก 36 เมกะวัตต์ และไอน้ำที่ได้จากกระบวนการผลิตจำนวน 230 ตันชั่วโมง จะขายให้กับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง
นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า FT) สำหรับค่าไฟฟ้ารอบเดือนมกราคม-เมษายน 2565 อยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 19.26 สตางค์ต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าขยับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.63 จากงวดปัจจุบัน ส่งผลให้ TPIPP ได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าเอฟทีดังกล่าว เนื่องจากมีมาร์จิ้นการขายไฟฟ้าสูงขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา
TPIPP ยังเดินหน้ามุ่งขยายกำลังการผลิตและลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อ ตามแผนยุทธศาสตร์ 3-5 ปี โดยคาดว่าผลประกอบการในปีนี้ยังคงดีต่อเนื่องจากค่า FT ของค่าไฟฟ้าที่ขาย กฟผ. เพิ่มขึ้น 19.26 สตางค์ต่อหน่วย และการปรับปรุงประสิทธิภาพหม้อต้มน้ำ (Boiler) ทุกหม้อ โดยใช้ขยะเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นขยะสด คาดว่าจะสามารถลดการใช้ถ่านหินได้ 970 ตันต่อวัน ภายในปี 2565 นี้ โดยปัจจัยดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น และจากรายได้ Carbon Credit ซึ่งจะสามารถชดเชยค่า Adder ของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ ที่จะทยอยหมดอายุในปีนี้ และวางแผนเดินหน้าเปลี่ยนแปลงโรงไฟฟ้าถ่านหิน 220 เมกะวัตต์ ในปัจจุบันให้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสีเขียว 100% ใช้เชื้อเพลิงขยะแทนเชื้อเพลิงถ่านหิน 100% ได้ในปี 2569 .-สำนักข่าวไทย