กรุงเทพฯ 16 ม.ค.-ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยายืนยัน เหตุภูเขาไฟระเบิดใต้ทะเลบริเวณประเทศตองกาซึ่งทำให้เกิดสึนามิเคลื่อนตัวเข้าหาชายฝั่งหลายๆ ประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิก แต่จะไม่ส่งผลกระทบถึงไทยแน่นอน จึงขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวล สำหรับมหาสมุทรอันดามัน แม้จะมีภูเขาไฟใต้ทะเล แต่ไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่า จะระเบิดมานานแล้ว
ศ. กิตติคุณ ดร. ปัญญา จารุศิริ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและปรึกษาให้กับกรมทรัพยากรธรณีกล่าวว่า เหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดใต้ทะเลบริเวณประเทศตองกาเมื่อเวลา 11.27 วานนี้ (15 ม.ค) ตามเวลาประเทศไทย ทำให้เกิดคลื่นสึนามิเคลื่อนตัวเข้าหาชายฝั่งหลายๆ ประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีความสูงคลื่นประมาณ 0.1- 1.2 เมตรเช่น ที่ฟิลิปปินส์ 0.20 เมตร ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และชิลี 1.0-1.2 เมตร ทั้งนี้ศูนย์เตือนภัยสึนามิแปซิฟิกออกคำเตือนฉบับที่ 11 เมื่อเวลา 08.45 วันนี้ (16 ม.ค.) และยืนยันการเกิดสึนามิดังกล่าว
ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิตตรวจสอบและเฝ้าระวังติดตามเหตุการณ์จากทุ่นน้ำลึกพบว่า ทุ่นต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกได้รับสัญญาณสึนามิในระดับความสูงประมาณ 3-10 เซนติเมตร แต่ไม่เกิดสึนามิที่ทุ่นที่ใกล้ชายฝั่งทะเลอันดามัน จึงขอให้ประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวบริเวณ 6 จังหวัดได้แก่ ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และสตูลไม่ต้องกังวล
สำหรับจังหวัดชายฝั่งทะเลอ่าวไทยไม่มีผลกระทบเช่นกัน แม้ว่าทุ่นที่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกจะจับสัญญาณสึนามิได้ แต่เป็นสัญญาณที่ไม่รุนแรงคือ น้อยกว่า 10 เซนติเมตรประกอบกับอ่าวไทยอยู่ห่างจากจุดกำเนิดภูเขาไฟระเบิดกว่า 9,000 กิโลเมตร และมีเกาะแก่งของประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียขวางทิศทางการเคลื่อนตัวของสึนามิมายังประเทศไทย ต่างจากชายฝั่งของประเทศญี่ปุ่น ชิลี เปรู นิวซีแลนด์ซึ่งเป็นทะเลเปิด
นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณีกล่าวว่า เมื่อวานนี้ เวลาประมาณ 13.30 น. ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัยติดตามสถานการณ์พิบัติภัยทั้งในประเทศและต่างประเทศพบว่า เกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟใต้ทะเลปะทุรุนแรงบริเวณที่เรียกว่า “ภูเขาไฟ Hunga – Tonga-Hunga – Ha’apai” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตองกาในมหาสมุทรแปซิฟิก เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ภูเขาไฟพ่นควันและเถ้าถ่านสูงเกิน 15 เมตร แล้วเกิดสึนามิเคลื่อนที่เข้าหาฝั่งของเกาะ Tongatapu ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของประเทศตองกา
สำนักงานจัดการเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ (NEMA) ของตองก้าให้คำแนะนำให้ประชาชนอยู่ห่างจากชายหาดและชายฝั่ง โดยคลื่นยักษ์ที่พัดผ่านแนวชายฝั่งในเมืองนูกูอาโลฟาซึ่งเป็นเมืองหลวง ทำให้น้ำท่วมถนนเลียบชายฝั่ง บ้านเรือนเสียหาย และประชาชนเกิดความตื่นตระหนก แต่กรมทรัพยากรธรณียืนยันว่า จะไม่ส่งกระทบต่อประเทศไทยแน่นอน
เมื่อเปรียบเทียบกับสึนามิที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรอันดามันในปี 2547 ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศไทยด้วย โดยครั้งนั้นมีสาเหตุจากแผ่นดินไหวใต้ทะเล แต่ครั้งนี้มีสาเหตุจากภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิด ส่วนความสูงของคลื่นสึนามิจากภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิดจะน้อยกว่าสึนามิจากแผ่นดินไหวใต้ทะเล
ทั้งนี้กรมทรัพยากรธรณีเฝ้าติดตามความเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลกและภูเขาไฟใต้น้ำในมหาสมุทรอันดามันอย่างต่อเนื่อง ยังไม่พบสิ่งบ่งชี้ทั้งภูเขาไฟใต้น้ำจะปะทุและแผ่นเปลือกโลกจะเคลื่อนตัว ตลอดจนมีทุ่นตรวจจับคลื่นนอกชายฝั่ง หากมีสึนามิ มีเวลาแจ้งเตือนภัยให้อพยพได้ไม่ต่ำกว่าชั่วโมงครึ่งก่อนคลื่นกระทบฝั่ง
ศ. ดร. สันติ ภัยหลบลี้ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่า ในมหาสมุทรอินเดียมีภูเขาไฟใต้น้ำชื่อ Barren อยู่ใกล้หมู่เกาะนิโคบาร์ ซึ่งมีลาวาไหลหลาก แต่ไม่ทำให้น้ำกระเพิ่ม จึงไม่ต้องกังวลว่า จะเกิดคลื่นขนาดใหญ่ส่งผลต่อชายฝั่งไทย
ส่วนโอกาสเกิดสึนามิจากแผ่นเปลือกโลกมุดตัวในฝั่งอันดามันที่เคยเกิดขึ้น สามารถเกิดอีกได้จึงต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง แต่ไม่ต้องตระหนกเพราะก่อนเกิดสึนามิ จะมีสัญญาณที่ตรวจจับได้และมีระบบเตือนภัยล่วงหน้า ส่วนอ่าวไทย โอกาสเกิดสึนามิน้อยมาก หากเกิดจะมีขนาดเล็กที่ไม่เป็นพิบัติภัย
สิ่งสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาเน้นย้ำคือ การปฏิบัติตามคำแนะนำและการเตือนภัยอย่างเคร่งครัด เนื่องจากหลังเกิดสึนามิในปี 2547 แล้วประเทศไทยทำระบบเตือนภัยพิบัติภัยขึ้นมา เมื่อเตือนแล้ว ไม่เกิดสึนามิ ประชาชนและนักท่องเที่ยวติหนิหน่วยงานที่รับผิดชอบว่า ไม่แม่นยำ ทั้งที่จริงเป็นการเตือนเพื่อป้องกันชีวิต จึงไม่ควรห่วงทรัพย์สินและวิ่งไปในทิศทางที่แนะนำโดยเร็ว.-สำนักข่าวไทย