กรุงเทพฯ 9 ม.ค.- รมว.เกษตรฯ สั่งกรมปศุสัตว์ขยายผลตรวจฟาร์มสุกรทั่วประเทศเพื่อสำรวจทั้งโรคและปริมาณการผลิตที่แท้จริง อธิบดีกรมปศุสัตว์ระบุเร่งนำตัวอย่างที่เก็บจากฟาร์มและสุกร 4 จังหวัดภาคกลางซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงใหญ่ ส่งตรวจที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติเพื่อยืนยันว่ามีการระบาดของโรค ASF หรือไม่ เผยข่าวดี มีความหวังจากวัคซีนที่ไทยอาจผลิตได้เป็นแห่งแรกของโลก
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า สั่งการให้กรมปศุสัตว์ขยายพื้นที่ตรวจฟาร์มสุกร จากที่ตรวจเมื่อวาน (8 ม.ค.) ถึงวันนี้ (9 ม.ค.) ใน 4 จังหวัดภาคกลางซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงใหญ่ได้แก่ จังหวัดราชบุรี นครปฐม ชลบุรี และฉะเชิงเทรา โดยให้ตรวจฟาร์มทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบโรคระบาดและสำรวจปริมาณการผลิตที่แท้จริงว่า สุกรขาดจากความต้องการของตลาดเท่าไร ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2565 เรื่องการแจ้งปริมาณ ราคา สถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีคุมสินค้าสุกร เนื้อสุกร
นอกจากนี้ยังย้ำให้เร่งขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยเพื่อช่วยเหลือในเบื้องต้นอย่างทันท่วงที รวมทั้งส่งเสริมการปรับระบบจัดการฟาร์มให้ได้มาตรฐานเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคระบาดและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า วันนี้จะยังคงส่งเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจ 6 ชุดเข้าตรวจฟาร์มสุกรใน 4 จังหวัดเพิ่มเติม จากนั้นจะขยายพื้นที่ตรวจไปทั่วประเทศเพื่อหาว่ามีการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ได้รับ แจ้งจากเกษตรกร ตามพ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 เมื่อสัตว์ป่วย-ตายผิดปกติต้องแจ้งกรมปศุสัตว์ แต่ไม่มีการแจ้งจึงไม่พบรายงานในระบบ เมื่อเกิดโรคระบาดต้องควบคุมอย่างทันทันท่วงที เพราะมีตัวอย่างจากหลายประเทศที่โรค ASF ระบาด เช่นจีนที่ต้องทำลายสุกรไปกว่า 500 ล้านตัว
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะเก็บข้อมูลจำนวนสุกรที่เลี้ยง หากไม่มีสุกรหรือมีสุกรน้อยกว่าที่เคยแจ้งต่อสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ให้ตรวจสอบประวัติการเลี้ยงย้อนหลัง 2 ปีเพื่อหาสาเหตุ เก็บตัวอย่างจากโรงเรือนและตัวสุกร แล้วส่งตรวจชันสูตรยังห้องปฏิบัติการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติของกรมปศุสัตว์เพราะการตรวจยืนยันโรคต้องตรวจที่นี่เท่านั้น แม้ห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยและเอกชนตรวจได้ก็ตาม จึงประสานไปยังคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งปรากฏข่าวว่า มีผู้ส่งซากให้ตรวจแล้วพบเชื้อไวรัส ASF ว่า ส่งมาจากพื้นที่ใด หากยังเก็บตัวอย่างจากซากไว้อยู่ จะนำมาตรวจตามหลักวิชาการอีกครั้ง กรณีที่พบเชื้อ ASF จะต้องประกาศเขตโรคระบาดเพื่อควบคุมโรคทันทีและรายงานต่อองค์กรสุขภาพสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE)
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวต่อว่า กำลังเร่งยกระดับฟาร์มให้ได้มาตรฐาน GAP หรือ GFM ซึ่งจะมีระบบป้องกันทางชีวภาพเพื่อป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งผู้เลี้ยงรายย่อยและรายเล็กจำนวนมากซึ่งระบบการเลี้ยงยังไม่ได้มาตรฐานเช่น ไม่จำกัดการเข้า-ออกของคนและยานพาหนะ นำเศษอาหารไปเลี้ยงสุกรโดยไม่ต้มให้สุกซึ่งเสี่ยงก่อโรค เป็นต้น
สำหรับโรค ASF เป็นโรคที่มีอัตราการตายสูงและยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค แต่ไม่ใช่โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ขณะนี้กรมปศุสัตว์ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยลัยพัฒนาวัคซีน 3 รูปแบบ จากการทดสอบเบื้องต้นพบว่า ป้องกันเชื้อไวรัส ASF ได้ จึงผลิตวัคซีนต้นแบบเตรียมทดสอบคุณภาพและประสิทธิภาพ โดยฉีดให้สุกรในห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ภายในเดือนนี้ วัคซีนเป็นความหวังเดียวของการป้องกันและควบคุมโรค ASF หากได้ผลตามที่ตั้งใจ ไทยจะผลิตได้เป็นแห่งแรกของโลก.-สำนักข่าวไทย