กรุงเทพฯ 8 ม.ค. – อธิบดีกรมปศุสัตว์ ส่งเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจตรวจสอบฟาร์มสุกรใน 4 จังหวัดภาคกลางซึ่งมีฟาร์มสุกรจำนวนมาก เก็บตัวอย่างในฟาร์มตรวจสอบเชื้อก่อนโรคระบาดและตรวจปริมาณการผลิตตามมาตรการจัดทำบัญชีคุมสินค้าสุกร-เนื้อสุกร
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ชุดเฉพาะกิจจากกองสารวัตรและกักกันและสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ระดมตรวจสอบฟาร์มสุกรใน 4 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี นครปฐม ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เพื่อหาว่ามีการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) หลังจากปรากฏข่าวพบโรคในหลายพื้นที่ เป็นสาเหตุทำให้สุกรมีชีวิตขาดแคลนส่งผลกระทบต่อราคาเนื้อสุกรและสินค้าเพื่อการบริโภคที่ปรุงจากเนื้อสุกรที่สูงขึ้นตามกันไป ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน นอกจากนี้มีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรฟาร์มหลายพื้นที่ระบุว่าสุกรในฟาร์มจำนวนมากป่วยตายด้วยโรคดังกล่าวจริง
ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการลดความเสี่ยงต่อโรค ASF ของฟาร์มพื้นที่เสี่ยงสูงบางพื้นที่ของประเทศไทย เช่น จังหวัดนครปฐม ราชบุรี ชลบุรี เพชรบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา เป็นต้น แต่กลับไม่ได้รับรายงานว่าแจ้งมีสุกรป่วย/ตายจากเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้นเพื่อให้ได้รับทราบถึงข้อมูลสถานการณ์โรคสุกรที่แท้จริง และสำรวจจำนวนสุกรในฟาร์มเพื่อตรวจสอบปริมาณการผลิตสำรองตามที่กรมปศุสัตว์สั่งการ และประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2565 เรื่องการแจ้งปริมาณ ราคา สถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีคุมสินค้าสุกร เนื้อสุกร กรมปศุสัตว์จึงส่งชุดเฉพาะกิจเข้าดำเนินการ
ทั้งนี้ ชุดเฉพาะกิจ 6 ชุดจะเข้าตรวจฟาร์มสุกรในจังหวัดราชบุรี นครปฐม ชลบุรี และฉะเชิงเทรา โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ซึ่งจะตรวจสอบดังนี้
-เก็บข้อมูลจำนวนสุกรที่เข้าเลี้ยงในปัจจุบันตามแบบฟอร์มที่กำหนด กรณีฟาร์มไม่มีสุกร หรือมีสุกรจำนวนน้อยกว่าที่เคยจดแจ้งไว้กับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ให้ตรวจสอบข้อมูล ประวัติการเลี้ยงตั้งแต่อดีตย้อนหลังไม่เกิน 2 ปี จนถึงปัจจุบัน โดยสอบสวนหาสาเหตุที่ไม่มีการเลี้ยงสุกรให้ละเอียด
-เก็บตัวอย่างซีรั่ม ฟาร์มละ 2 ตัวอย่าง โดยเจ้าหน้าที่เป็นผู้สุ่มเลือกโรงเรือน 6 โรงเรือนและเก็บตัวอย่างโรงเรือนละ 10 ตัว
-เก็บตัวอย่าง SWAB 2 โรงเรือน บริเวณต้น กลาง และท้ายโรงเรือน โดยเก็บบริเวณละ 5 จุด และเก็บที่เล้าขายอีก 2 จุด แล้วรวบรวมตัวอย่างพร้อมประวัติให้ชัดเจนส่งตรวจชันสูตรยังห้องปฏิบัติการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์
นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์ได้ตรวจสอบเพื่อหาว่ามีการระบาดของโรค ASF ในประเทศแล้วหรือไม่มาระยะหนึ่งแล้ว แต่การตรวจสอบต้องเป็นไปตามขั้นตอนให้ครบถ้วนละเอียดรอบคอบ รอบด้าน เป็นไปตามข้อกฎหมาย ตามหลักวิชาการ รวมถึงตามมาตรฐานสากล เมื่อตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลได้ครบถ้วน จะรายงานให้สาธารณชนทราบตามความเป็นจริง โดยจะไม่มีปกปิดใดๆ ทั้งสิ้น. – สำนักข่าวไทย