สุวรรณภูมิ 29 พ.ย. – EOC ประชุมพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติมสำหรับการเฝ้าระวังโควิดกลายพันธุ์ โอไมครอน หลังสำนักงานการบินพลเรือนฯ ประกาศควบคุมผู้เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงแล้ว
เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. วันนี้ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงประจำท่าอากาศยาน (EOC) ได้ประชุมเพื่อพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติมสำหรับการเฝ้าระวังโควิด-19 กลายพันธุ์ “โอไมครอน” หลังจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ออกประกาศแจ้งสายการบินทั่วโลก ให้ทราบว่าไทยจะมีข้อกำหนดสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางมาจาก 8 ประเทศ มีการกำหนดมาตรการกักตัว 14 วัน ของผู้โดยสารกลุ่มนี้ ถ้าเดินทางมาถึงไทยตั้งแต่วันที่ 28-30 พ.ย. และตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2564 เป็นต้นไป จะห้ามผู้โดยสารจากประเทศเหล่านี้เข้าประเทศไทย ในส่วนของด่านควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ จะดำเนินการปฎิบัติตามประกาศ กพท.อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวระบุว่า ประเด็นสำคัญในการตรวจคัดกรองผู้โดยสาร ซึ่งปัจจุบันมีการใช้วิธี RT- PCR และก่อนหน้าที่มีการเตรียมผ่อนคลายหลังการเปิดประเทศ นำวิธีการคัดกรองแบบ ATK มาใช้ ล่าสุดจะเลื่อนอออกไป โดยจะคงการคัดกรองโดย RT- PCR ต่อไป
นายทินกร ชูวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ด้านปฏิบัติการรักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่าในฐานะที่บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย ติดตามตัวเลขปริมาณการจราจรทางอากาศในขณะนี้ พบว่าปริมาณเที่ยวบินที่บินเข้าออกระหว่างประเทศและในประเทศปัจจุบันมีเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 1,000 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมที่มีเฉลี่ยวันละ 800 เที่ยวบิน ซึ่งก็ถือได้ว่าภายหลังเปิดประเทศ ปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นประมาณ 20-25%
ส่วนผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ “โอไมครอน” จะส่งผลกระทบต่อปริมาณเที่ยวบินมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเที่ยวบินประเภทเช่าเหมาลำ หรือชาร์เตอร์ไฟลท์จากยุโรป ในส่วนนี้ประเมินว่ากรณีเกิดโรคระบาดที่จะมีผลกระทบต่อปริมาณการเดินทางจะไปแสดงผลในหนึ่งเดือนข้างหน้า หรือในเดือนธันวาคมนี้
สำหรับจำนวนผู้เดินทางเข้าไทยทางอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1-27 พฤศจิกายน 2564 ข้อมูลจาก ศบค.พบมีจำนวนทั้งสิ้น 116,323 ราย ทั้งระบบTest & Go Sandbox และ Quarantine พบติดเชื้อรวม 149 ราย คิดเป็น 0.13% เฉพาะวานนี้ (27 พ.ย.) เดินทางเข้ามา 6,115 ราย พบผู้ติดเชื้อ 5 ราย ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อทุกรายถูกส่งเข้าระบบการรักษาพยาบาลและส่งตรวจหาสายพันธุ์เพื่อการเฝ้าระวัง โดย 10 ประเทศที่มีผู้เดินทางเข้ามามากที่สุดคือ USA เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น รัสเซีย เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส UAE และสิงคโปร์. – สำนักข่าวไทย