กรุงเทพฯ 22 พ.ย. – อธิบดีกรมชลประทานสั่งโครงการชลประทานทุกแห่งพร้อมรับมือฝนตกหนักภาคใต้ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนซึ่งกรมอุตุฯ คาดการณ์ฝนตกหนัก 23-26 พ.ย. ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมได้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า สั่งการให้เฝ้าระวังฝนตกหนักทุกจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนได้แก่ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี เนื่องจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกออกประกาศแจ้งเตือน เรื่อง คลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทยและมีฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 23-26 พ.ย. ซึ่งอาจทำให้มีน้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขังบางพื้นที่ จึงย้ำให้เจ้าหน้าที่คอยติดตามและตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งาน รวมถึงบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมทั้งปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์
ทั้งนี้นายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 17 รายงานถึงการเตรียมพร้อมที่จังหวัดนราธิวาสติดตั้งเครื่องสูบน้ำไปแล้ว 6 พื้นที่ จากแผน 24 พื้นที่เช่น อำเภอเมือง บริเวณท่อระบายน้ำแห่งที่ 3 บ้านยะกัง คลองยะกัง ซึ่งจะช่วยเหลือครอบคลุมในเขตศูนย์ราชการจังหวัดนราธิวาสและเทศบาลเมืองนราธิวาส เปิดประตูระบายน้ำบางนราตอนบนพ้นน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลได้เร็วขึ้น ส่วนที่ประตูระบายน้ำน้ำแบ่ง อำเภอตากใบติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 4 เครื่องเพื่อสำรองไว้ใช้งาน กรณีเกิดอุทกภัยในพื้นที่จะสามารถเดินเครื่องผลักดันน้ำเพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทยต่อไป เช่นที่ ท่อระบายน้ำปลายคลองลานติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 5 เครื่อง ที่ฟาร์มบ้านรอตันบาตู 2 เครื่อง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่องที่นอกค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส และติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยระบบไฮดรอลิค ( HYDRO FLOW ) รวม 4 เครื่อง ที่ ปตร.ปิเหล็ง 1 ติดตั้ง 1 เครื่อง บ้านโคกสะตอ 1 เครื่อง ท่อระบายน้ำปลายคลองลาน 2 เครื่อง พร้อมทั้งเดินเครื่องสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 3 แห่ง ส่วนพื้นที่โครงการพรุบาเจาะ-ไม้แก่นอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้เปิดประตูระบายน้ำ 10 แห่ง ขุดเปิดสันทรายเพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น ซึ่งคลองระบายน้ำสายดังกล่าวเป็นคลองหลักในการรับน้ำจากโครงการพรุบาเจาะ-ไม้แก่นและบริเวณใกล้เคียง
ส่วนจังหวัดปัตตานีได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว 2 เครื่องบริเวณพนังกั้นน้ำโรงพยาบาลหนองจิกเพื่อช่วยเหลือพื้นที่อยู่อาศัยและส่วนราชการ พร่องน้ำในระบบทุกสายคลองลงทะเลเตรียมรับปริมาณฝนที่ตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำปัตตานี โดยทั้งนี้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานีร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (เขื่อนบางลาง) บริหารจัดการน้ำในเขื่อนบางลางร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการป้องกันจังหวัดยะลาซึ่งเป็นพื้นที่ที่รับน้ำจากปัตตานี นอกจากนี้ยังพร่องน้ำในลุ่มน้ำสายหลักในเขตชลประทานให้เหลือ 50 % ของลำน้ำเพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำด้วย
นายประพิศกล่าวต่อว่า ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมณะทำงานด้านอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งจะประชุมในช่วงบ่ายวันนี้ เพื่อบูรณาการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น.-สำนักข่าวไทย