กรุงเทพฯ 26 ต.ค.- สำนักงานอีอีซี ระบุรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ใช้เงินกู้ปลายปี 65 ยอมรับโควิด-19 กระทบผู้โดยสารเหลือเพียง 1-2 หมื่นคน/วัน เอกชนรายใหม่เข้าบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ไม่พบปัญหา แนะลงทุนไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเพิ่มเติม
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยว่า การลงทุน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ยอมรับว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่เอกชนต้องได้สินเชื่อ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพราะยัง มีความก้าวหน้าตามกำหนดอย่างต่อเนื่อง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ส่งมอบพื้นที่พร้อมก่อสร้างของโครงการช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภาให้ บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด (เอกชนคู่สัญญา) แล้วร้อยละ 98.11 ระยะทาง 160 กิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ 3,513 ไร่
โดยภาคเอกชนคู่สัญญา ได้ทยอยเข้าเตรียมการก่อสร้างแล้วตั้งแต่ปลายปี 2563 ประกอบด้วย การสร้างถนน และสะพานชั่วคราวของโครงการ การสร้างโรงหล่อชิ้นส่วนทางวิ่งรถไฟ การสร้างบ้านพักคนงาน โดย รฟท. จะส่งมอบพื้นที่ที่เหลืออีกร้อยละ 1.89 ภายในเดือนมกราคม 2565 เมื่อเอกชนคู่สัญญาตรวจรับพื้นที่แล้วเสร็จ รฟท. จะออกหนังสือแจ้งเริ่มงานก่อสร้างอย่างเป็นทางการ (Notice to Proceed, NTP) คาดว่าประมาณเดือนมีนาคม 2565 ดังนั้น ปัจจุบันยังไม่ถึงขั้นตอนที่เอกชนคู่สัญญาต้องได้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพราะสัญญาร่วมลงทุนกำหนดว่า ให้เอกชนคู่สัญญาจัดหาสินเชื่อ ภายใน 240 วัน นับจากวันที่ รฟท. ออก NTP ดังนั้นขั้นตอนการหาสินเชื่อจะแล้วเสร็จประมาณเดือน พฤศจิกายน 2565
กรณีภาคเอกชนรายใหม่เข้าบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เมื่อเผชิญกับไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารลดลงจากประมาณ 7-8 หมื่นคน/วัน เหลือเพียง 1-2 หมื่น คน/วัน นับเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่คาดการณ์มาก่อน รฟท. จึงรับขาดทุนมาโดยตลอด และต้องให้มีการถ่ายโอนการดำเนินการตามกำหนดจึงไม่จัดเตรียมงบประมาณไว้ล่วงหน้า ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) จึงหาทางแก้ไขโดยไม่ให้กระเทือนต่อประชาชนผู้โดยสาร วันที่ 20 ตุลาคม 2564 รฟท. และเอกชนคู่สัญญา จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลง เพื่อให้ภาคเอกชนเข้าบริหาร แอร์พอร์ต เรลลิงก์ และให้มีบริการได้อย่างต่อเนื่อง
ประกอบด้วย การเข้าบริหารรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต ลิงก์ ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2564 ตามกำหนดการที่วางไว้ โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่าย บุคลากรปฏิบัติงานทั้งหมด รับผิดชอบความเสี่ยงทั้งหมดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงาน เพื่อทำให้การเดินรถไฟและซ่อมบำรุงรักษาระบบแอร์พอร์ต เรลลิงก์เป็นไปตามมาตรฐานดัชนีชี้วัด หรือ KPI ที่ รฟท. กำหนด ซึ่งได้ลงทุนไปแล้วกว่า 1,100 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงระบบ ฝึกอบรมพนักงาน
อย่างไรก็ตาม รฟท. ยังเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร ไม่โอนรายได้ให้เอกชนในทันที แต่จะโอนให้เมื่อแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จ โดยจะให้เอกชนนำค่าโดยสาร ไปหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น หากกำไรต้องส่งคืน รฟท. ดังนั้น รฟท. จึงไม่ต้องรับภาระขาดทุน จากแอร์พอร์ต เรลลิงก์ อีกต่อไป ประมาณ 600 ล้านบาทในปี 2564 โดยในวันที่ลงนามบันทึกข้อตกลง เอกชนคู่สัญญาได้ชำระเงิน 1,067 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10 สิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงก์จำนวน 10,671 ล้านบาท ให้แก่ รฟท. เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะดำเนินการตามข้อตกลง ในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อเจรจาหาทางออกร่วมกัน โดยรัฐต้องไม่เสียประโยชน์ เพื่อนำ ครม.ต่อไป
โดยภาคเอกชนได้เข้าบริหารรถไฟฟ้า ตามบันทึกข้อตกลง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 ไม่พบปัญหาอุปสรรค ในการให้บริการประชาชน โดย รฟท. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดแนะ เอกชนรายใหม่ เริ่มลงทุนพัฒนาแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเพิ่มเติม อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยรัฐไม่เสียประโยชน์ และเอกชนได้รับความเป็นธรรม เพื่อเป็นตัวอย่างของการร่วมทุนรัฐและเอกชน เพื่อประหยัดงบประมาณ และนำเงินทุนภาคเอกชนมาร่วมในการพัฒนาประเทศ
การร่วมทุนคือทั้ง 2 ฝ่าย รัฐและเอกชนเข้ามาร่วม “รับความเสี่ยงด้วยกัน” โดยเอกชนนำเงินทุนมาลงทุนด้วย ต่างกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่เอกชนรับจ้างรัฐบาล ซึ่งรัฐลงเงินจ้างเอกชนทั้งหมด และรัฐรับความเสี่ยงแต่ฝ่ายเดียวหากเกิดเหตุสุดวิสัย การเจรจาเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ไม่มีฝ่ายใดเสียเปรียบ หวังเป็นกรณีโครงการร่วมทุนใน EEC เพื่อไม่จำเป็นต้องนำมาสู่กระบวนการแก้ไขปัญหา อย่างเช่นกรณีแอร์พอร์ท ลิงก์ เพราะ โครงการท่าเรือมาบตาพุด และสนามบินอู่ตะเภา:เมืองการบินภาคตะวันออก กำลังจะเริ่มก่อสร้าง คาดว่าเมื่อก่อสร้างเสร็จในช่วง 4 ปี ข้างหน้า คาดว่าผลกระทบจากโควิด-19 คงลดลงหมดไปแล้ว ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เตรียมลงนาม และได้พิจารณากระทบเหล่านี้ในสัญญา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว .-สำนักข่าวไทย