กรุงเทพฯ 19 ส.ค. – “บัวแก้ว” แจงเร่งเสาะแสวงหาความร่วมมือทุกทางสู้โควิดในบ้าน โดยรักษาดุลสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยต่อสื่อมวลชน ชี้แจงคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ ในการรักษาสมดุลในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย โดยเฉพาะความร่วมมือเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ดังนี้
1. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ ผลักดันความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 กับประเทศที่มีศักยภาพ รวมทั้งสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนและแหล่งกระจายวัคซีนในภูมิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้สั่งการให้สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลก เร่งผลักดันเชิงรุก เพื่อแสวงหาความร่วมมือกับนานาประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาทุกระดับ ทุกช่องทาง เพื่อแสวงหาวัคซีนโควิด-19 แก่คนไทย รวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย
2. กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการ ดังนี้
2.1 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือกับมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน อย่างต่อเนื่องในหลายโอกาส โดยไทยได้รับบริจาควัคซีน Sinovac จำนวน 1 ล้านโดส และจีนยังอำนวยความสะดวกและติดตามการจัดหาวัคซีนของบริษัท Sinovac และบริษัท Sinopharm เพื่อประสานงานให้การจัดซื้อและส่งมอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
2.2 สหรัฐอเมริกา กระทรวงการต่างประเทศ ผลักดันความร่วมมือกับหลายฝ่ายในสหรัฐฯ เพื่อเข้าถึงวัคซีนของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนของสหรัฐฯ ได้แก่ Pfizer Moderna Johnson & Johnson และ Novavax อย่างต่อเนื่องในทุกระดับ ทั้งในรูปแบบของการจัดซื้อ การขอรับความช่วยเหลือ และการเจรจาข้อตกลงการแลกเปลี่ยนวัคซีนล่วงหน้า (vaccine swap) โดยไทยได้รับบริจาควัคซีน Pfizer จำนวนกว่า 1.5 ล้านโดส เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 และฝ่ายสหรัฐฯ มีแผนที่จะมอบเพิ่มเติมอีก 1 ล้านโดส รวมเป็น 2.5 ล้านโดส
2.3 ญี่ปุ่น กระทรวงการต่างประเทศ หารืออย่างใกล้ชิดและทาบทามการแลกเปลี่ยนวัคซีนล่วงหน้า (vaccine swap) กับญี่ปุ่น และรัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งมอบวัคซีน AstraZeneca จำนวนกว่า 1,050,000 โดส ให้แก่ไทยแล้ว
2.4 สหราชอาณาจักร ไทยได้ทาบทามขอรับการสนับสนุน และสหราชอาณาจักรได้ส่งมอบวัคซีน AstraZeneca จำนวน 415,000 โดส ให้แก่ไทย
2.5 ภูฏาน รัฐบาลภูฏานกับรัฐบาลไทยได้เห็นชอบการแลกเปลี่ยนวัคซีนล่วงหน้า (vaccine swap) จำนวน 150,000 โดส บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ฉันมิตรทุกระดับ และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ไทยและภูฏาน มีร่วมกันอย่างใกล้ชิด
2.6 เยอรมนี กระทรวงการต่างประเทศ ติดต่อขอรับมอบ Monoclonal antibody (Casirivimab/Imdevimab) ซึ่งเป็นยารักษาผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนัก จากกระทรวงสาธารณสุขประเทศเยอรมนี ของบริษัท Regeneron จำนวน 1,000-2,000 ชุด
นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ยังอยู่ระหว่างการเจรจาสรรหาวัคซีนจากอินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และรัสเซีย เพื่อเตรียมความพร้อมด้านวัคซีนอย่างต่อเนื่อง
3. ที่ผ่านมาในกรอบอาเซียน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอ (1) ให้จัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือโควิด-19 (COVID-19 ASEAN Response Fund) เพื่อจัดหาวัคซีนผ่านความร่วมมือต่างๆ โดยอาเซียนอยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 เพื่อส่งมอบแก่ประเทศสมาชิก และ (2) ให้จัดการประชุมประเทศผู้บริจาคเพื่อระดมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา (Pledging Conference for ASEAN’s Humanitarian Assistance in Myanmar) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 เพื่อระดมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา โดยไทยซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ในเมียนมา ประกาศให้เงินสนับสนุน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ และแสดงความพร้อมในการอำนวยความสะดวกการขนส่งความช่วยเหลือไปยังเมียนมา
4. ในเวทีสหประชาชาติ ไทยกำลังเข้าร่วมกลไก COVAX Facility เพื่อเพิ่มช่องทางเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ที่หลากหลายและตอบโจทย์ความต้องการของไทยให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอให้รัฐบาลมอบเงินสนับสนุนแก่องค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อสนับสนุนกลไก COVAX Facility ภายใต้ข้อริเริ่ม ACT-Accelerator โดยรัฐบาลไทยได้มอบเงินสนับสนุนผ่าน WHO จำนวน 2 ครั้ง รวม 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ
5. ต่อคำวิจารณ์ที่ว่า “ไทยเป็นประเทศที่มีชนักติดหลัง ไปคบกับใครก็ยากนั้น” สหภาพยุโรป ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของไทย และมีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า 34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2563 ได้มีท่าทียอมรับประเทศไทยและรัฐบาลปัจจุบันว่า ได้เปลี่ยนผ่านมาเป็นความเป็นประชาธิปไตย โดยได้ตกลงจะดำเนินการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ต่อกับไทย หลังจากที่ระงับการเจรจาไปเพราะการรัฐประหาร นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังได้เห็นชอบข้อเสนอในการซื้อยุทโธปกรณ์ของไทย โดยหนึ่งในเหตุผลที่สหรัฐฯ สนับสนุนคำขอดังกล่าว คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการทำการรบร่วมกันระหว่างกองทัพไทยและกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการมีความร่วมมือทางทหารกับไทยอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากชะงักงันไปในช่วงหลังปี 2557
ข้อเท็จจริงข้างต้นแสดงให้เห็นว่า นานาประเทศให้การยอมรับประเทศไทยและรัฐบาลชุดปัจจุบัน ในฐานะประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตย และพร้อมที่จะมีความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในด้านต่างๆ โดยไทยได้รักษาสมดุลในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่าง
6. การเปรียบเทียบจำนวนวัคซีนที่ได้รับการส่งมอบ โดยไม่ได้คำนึงบริบทความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ และปัจจัยอื่นๆ ซึ่งเป็นมาตรวัดในการให้ความช่วยเหลือของกลุ่มประเทศที่เป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ (donor countries) โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนา (Development Assistance Committee) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) อาจทำให้มองภาพความช่วยเหลือคลาดเคลื่อนไป อาทิ การเปรียบเทียบการที่สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมา 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังไม่มีการส่งมอบวัคซีนโควิด-19 เมื่อเทียบกับความช่วยเหลือที่ให้แก่ไทย มูลค่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งมอบวัคซีนให้แล้ว 1.5 ล้านโดส โดยจะส่งมอบเพิ่มเติมอีก 1 ล้านโดส และความช่วยเหลือที่ให้แก่มาเลเซีย มูลค่า 7.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งมอบวัคซีนให้ 1 ล้านโดส ในการประกาศให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาการระบาดของโควิด-19 ของสหรัฐฯ อาจมีเหตุผลในการส่งมอบความช่วยเหลือแตกต่างกันไป การพิจารณาเฉพาะจำนวนวัคซีนที่ประเทศใดประเทศหนึ่งให้แก่มิตรประเทศ จึงไม่อาจเหมารวมว่าเป็นมาตรวัดของ “มาตรฐานสากลที่ดี” ตามที่มีผู้ชักนำให้สาธารณชนทั่วไปเข้าใจผิดได้. – สำนักข่าวไทย