กรุงเทพฯ 18 ส.ค. – “ไออาร์พีซี” หวั่นโควิดกดดันผลประกอบการครึ่งหลังปี 64 หลังครึ่งแรกสร้างสถิติกำไรแตะ 1 หมื่นล้านบาท พร้อมปรับวิสัยทัศน์ใหม่ลุยธุรกิจเมกะเทรนด์
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ยอมรับว่า ผลประกอบการในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เป็นเรื่องท้าทาย หลังจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2564 มีกำไรสุทธิ 10,155 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 9,316 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่ทำให้หลายประเทศกลับมาล็อกดาวน์เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีทิศทางที่ดีที่มีการพัฒนาและกระจายวัคซีนได้รวดเร็ว ในขณะที่ยุโรปและสหรัฐ เศรษฐกิจยังไปได้ดี โดยขณะนี้บริษัทได้เร่งประเมินตลาดและขยายช่องทางเพื่อรักษาระดับการส่งออกให้ดีขึ้น
“ช่วงครึ่งหลังของปีต้องดูทั้งดีมานด์และราคาผลิตภัณฑ์ กระทบจากล็อกดาวน์โควิดระลอกใหม่มากน้อยเพียงใด ซึ่งครึ่งแรกของปีทุกอย่างดีทั้งหมด อย่างไรก็ตาม คาดว่าปีนี้กำลังกลั่นจะอยู่ที่ราว 193,000 บาร์เรล/วัน” นายชวลิต กล่าว
นายชวลิต กล่าวด้วยว่า เตรียมเสนอบอร์ดไออาร์พีซี ในเร็วๆ นี้ ปรับวิสัยทัศน์บริษัทใหม่ โดยจะไม่ได้ทำธุรกิจเฉพาะปิโตรเลียม/ปิโตรเคมี แต่จะต่อยอดและหาธุรกิจใหม่ เพื่อรับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (Megatrends) ที่ส่งผลกระทบและสร้างการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม จะเป็นองค์กรที่ “สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว (To Shape Material and Energy Solutions in Harmony with Life) โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจต่างๆ ของโลก อาทิ เทคโนโลยี การสื่อสาร การคมนาคม ความต้องการของลูกค้า ที่กำลังเข้าสู่การเป็นสังคมเมืองและสังคมผู้สูงอายุ ความห่วงใยสิ่งแวดล้อม รวมถึงสงครามการค้า ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจเท่านั้น หากแต่ยังเป็นโอกาสสำคัญของ IRPC ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและความแข็งแกร่งให้กับองค์กรด้วย โดยจะร่วมมือทั้งภายในกลุ่ม ปตท. และพันธมิตร เช่น ควบรวมกิจการให้ธุรกิจขยายตัวรวดเร็ว
IRPC จะให้ความสำคัญต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการใช้วัสดุหมุนเวียนและการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถรองรับความต้องการใช้งานทางการแพทย์และสุขภาพ ที่สร้างประโยชน์เพื่อคนไทยโดยคนไทยเป็นรายแรกของประเทศ อาทิ นวัตกรรมเม็ดพลาสติก พีพี เกรด เมลต์โบลน (PP Melt blown : Polypropylene Melt blown) วัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) จะเริ่มทดสอบผลิตได้ในเดือนกันยายนนี้ และจะผลิตเชิงการค้าปลายปีนี้ โดยผลิตเม็ด PP Melt blown ประมาณ 4,000 ตัน/ปี จากความต้องการของประเทศ 10,000 ตัน/ปี
ไออาร์พีซี ยังผลิตนวัตกรรมกลุ่มนวัตกรรมทางการเกษตร ได้แก่ ซิงค์ออกไซด์นาโน (ZnO NANO) ที่พัฒนาต่อยอดมาจากซิงค์ออกไซด์ (ZnO) ทำให้มีขนาดเล็กระดับอนุภาคนาโน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมธาตุอาหารเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของพืชได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มผลิตผลทางการเกษตร และปลอดภัยต่อทั้งเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม
สำหรับการสร้างสรรค์ด้านการใช้พลังงานนั้น IRPC จะขยายผลธุรกิจในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานแห่งอนาคต ทั้งพลังงานทางเลือก และพลังงานหมุนเวียน เช่น วัสดุเคลือบแผงโซลาร์เซลล์ลดความร้อน และอุปกรณ์เก็บพลังงานสำรองให้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ตลอดจนการปรับปรุงกระบวนการผลิตโรงกลั่นน้ำมันให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมากขึ้น
“เราไม่เพียงแต่ขยายฐานจากการดำเนินธุรกิจด้านการผลิตปิโตรเคมีและการกลั่นที่เราเชี่ยวชาญมายาวนานกว่า 40 ปี แต่เราต้องต่อยอดองค์ความรู้ที่มีและเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตร เพื่อสร้างนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์และรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจ และสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืนจากความสมดุลของทั้งชีวิตผู้คนและสิ่งแวดล้อม และแน่นอนว่า รายได้สัดส่วนของสินค้าเกรดพิเศษจะเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีสัดส่วนร้อยละ 20 และเงินลงทุน 5 ปี จากเดิมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย” นายชวลิต กล่าว. – สำนักข่าวไทย