กทม. 15 ส.ค.-ก.สาธารณสุข เผยมีระบบติดตามวิเคราะห์ข้อมูล คาดการณ์การระบาดโควิด-19 และปรับยุทธศาสตร์เพื่อลดป่วย ลดเสียชีวิต ให้ทุกจังหวัดเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก นำเข้าระบบรักษา ได้รับยาเร็ว เร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีระบบฐานข้อมูลผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในทุกเรื่อง ทั้งยารักษา เวชภัณฑ์ จำนวนเตียง รวมทั้งการกระจายและการฉีดวัคซีน อัตราการป่วย เสียชีวิต เป็นต้น มีการประชุมติดตามวิเคราะห์ข้อมูล วางแผน รองรับการคาดการณ์แนวโน้มระยะ 14 วัน ทั้งการระบาด การใช้ทรัพยากรต่างๆ และปรับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการการระบาดโควิด-19 ตลอดเวลา ใช้ยุทธศาสตร์ที่เน้นการลดอัตราการเสียชีวิตและการป่วยหนัก มีการประเมินและติดตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการการระบาดโควิด-19
จากข้อมูลช่วงวันที่ 6-12 สิงหาคม 2564 หรือสัปดาห์ที่ 34 ของปีนี้ พบการติดเชื้อทั้ง 77 จังหวัด เฉลี่ย 20,000 รายต่อวัน จำนวนผู้ติดเชื้อกระจายจาก กทม.และปริมณฑลไปภูมิภาค มากที่สุดในภาคอีสาน และมีผู้ป่วยอาการหนักมี 5,507 ราย ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคกลาง และไม่พบผู้ป่วยอาการหนัก 3 จังหวัด คือ กระบี่ พัทลุง และลำปาง
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ในภาพรวมของสัปดาห์ที่ 34 มีอัตราการป่วยตายของไทยอยู่ที่ 0.9% หรือคิดเป็น 105 ต่อประชากรล้านคน ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 559 ต่อประชากรล้านคน อัตราการเสียชีวิตต่อแสนประชากรพบว่ากระจุกตัวในภาคกลาง โดยจังหวัดที่อัตราการเสียชีวิตมากกว่า 5 ต่อแสนประชากร มี 5 จังหวัด คือ สมุทรสาคร อยู่ที่ 13 ต่อแสนประชากร, กทม. 10 ต่อแสนประชากร, สมุทรปราการ 6 ต่อแสนประชากร, ตาก 5.7 ต่อแสนประชากร และนครปฐม 5 ต่อแสนประชากร ส่วนเสียชีวิต 3-5 ต่อแสนประชากร มี 6 จังหวัด คือ ปัตตานี ปทุมธานี ระนอง ปราจีนบุรี ตราด และนครนายก เสียชีวิต 1.5-3 ต่อแสนประชากร มี 11 จังหวัด คือ อ่างทอง นราธิวาส พิจิตร อยุธยา ยะลา นครสวรรค์ ฉะเชิงเทรา นนทบุรี ราชบุรี ชลบุรี และระยอง และน้อยกว่า 1.5 ต่อแสนประชากรมี 44 จังหวัด และไม่พบผู้เสียชีวิต 11 จังหวัด คือ กระบี่ ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ บึงกาฬ แพร่ ภูเก็ต ลพบุรี เลย สมุทรสงคราม และสุพรรณบุรี
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า จากการประชุมติดตามการทำงาน กระทรวงสาธารณสุขจึงตั้งเป้าหมายลดอัตราป่วยตายต้องไม่เกิน 1% ได้กำชับให้ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพ ติดตามอย่างใกล้ชิด จัดสรรทรัพยากรในการดูแลรักษาให้แต่ละจังหวัดอย่างเหมาะสม เช่น เครื่องช่วยหายใจ ยารักษา ตรวจเชิงรุก ค้นหาผู้ติดเชื้อเร็ว นำเข้าระบบการรักษาเร็ว ได้ยาเร็ว และเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาด ให้ครอบคลุมตามเป้าหมายของพื้นที่ ภายใน 30 วัน หรืออย่างน้อย 1.9 แสนคนต่อวัน โดยฉีดเข็ม 1 ใน 29 จังหวัดควบคุมสูงสุด และเข้มงวดให้ได้ 70% ซึ่งขณะนี้มีเพียง กทม.ที่ฉีดกลุ่ม 60 ปีขึ้นไปได้ 90% และบางจังหวัด ได้แก่ ลพบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา ฉีดได้ต่ำกว่า 20% สำหรับจังหวัดอื่นๆ ที่เหลือ ต้องฉีดให้ครอบคลุม 50% และเฝ้าระวังการระบาดในโรงงาน ตลาด และชุมชน เข้มงวดมาตรการ Bubble & Seal นอกจากนี้ ด้านทรัพยากรต่างๆ ทางกระทรวงสาธารณสุข มีการเตรียมการและสั่งซื้อเข้ามาตลอดเวลา ให้เพียงพอ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงมีการปรับแผน และติดตามกำกับทุกสัปดาห์ เพื่อให้การรับมือกับโควิดในทุกพื้นที่ ครอบคลุมในทุกด้าน.-สำนักข่าวไทย