กรุงเทพฯ 26 ก.พ. – นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความสำเร็จในการประสานความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center หรือ ITC) ในประเทศไทย ว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยเกือบทั้งหมดพัฒนาจากรับจ้างผลิตไม่ได้ออกแบบผลิตภัณฑ์หรือสร้างนวัตกรรม เห็นงานต้นแบบจำนวนมาก แต่เกิดงานในเชิงพาณิชย์ยาก เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยร่วมดำเนินงานภายใต้กระทรวงฯ จึงเตรียมเปิดศูนย์ ITC เดือนมีนาคม 2560 เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงหน่วยงานวิจัย หน่วยงานการศึกษา ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และนักนวัตกรรม หรือผู้ประกอบการที่เป็น Start Up โดยทำงานลักษณะประชารัฐ คือ นำผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มาทำงานร่วมกับหน่วยงานวิจัย เพื่อสนับสนุนตอบโจทย์ผู้ประกอบการ โดยเน้นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ตามนโยบายรัฐบาลก่อน
นายสมชาย กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันพลาสติก และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการนำกระบวนการ ITC มาประยุกต์ใช้ ณ Technische Universitat Darmstadt (TU Darmstadt) และ Karlsruhe Institute of Technology (KIT) รวมถึง Fraunhofer Institute for Industrial Engineering IAO เพื่อศึกษาหลักการพัฒนา Industry 4.0 ที่มีประสิทธิภาพ โดยทำงานแบบบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงาน
“การร่วมมือกันในอนาคตได้มีการหารือกับ TU Darmstadt และ KIT เกี่ยวกับการพัฒนาเอสเอ็มอีร่วมกัน และการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนา ITC ของไทย และขณะนี้สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ มีการดำเนินการร่วมกับ Fraunhofer ในการจัดระดับของอุตสาหกรรมในประเทศไทยว่าอยู่ในระดับใด เมื่อเทียบกับการเป็นอุตสาหกรรม 4.0 สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรม 4.0 โดยภาครัฐจะให้การสนับสนุนการทำวิจัยแก่ภาคเอกชน ถ้าสำเร็จผู้ประกอบการจะคืนค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยให้กับรัฐบาลหรืออาจให้ภาครัฐเข้าไปถือหุ้นในบริษัท สำหรับรูปแบบการพัฒนา ITC เป็นหนึ่งในกระบวนการช่วยสร้างสินค้านวัตกรรมออกมาสู่ตลาด โดยมีพื้นฐานจากงานวิจัยและพัฒนา รวมทั้งความต้องการของภาคเอกชนเป็นหลัก ซึ่งศูนย์ ITC ที่กระทรวงฯ จะเปิดตัวนั้น จะมีการออกแบบเครื่องมือ สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการไทย” นายสมชาย กล่าว
ทั้งนี้ TU Darmstadt มีการตั้งศูนย์การเรียนรู้สำหรับเอสเอ็มอีเป็นหลัก โดยสร้างห้องทดลองและโรงงานต้นแบบกลาง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำให้อุตสาหกรรมเดิมกลายเป็นอุตสาหกรรม 4.0 เช่น การปรับเปลี่ยนจากภาคอุตสาหกรรมเกษตร โดยการนำวัสดุเหลือทิ้งทางเกษตรกรรมไปเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ส่วน KIT จะสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เน้นการพัฒนาและวิจัย ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาต้นแบบของงานวิจัยและจะทำการขยายขนาดการผลิต สำหรับอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นแนวทางที่กระทรวงอุตสาหกรรมนำไปใช้ประยุกต์กับศูนย์ ITC .-สำนักข่าวไทย