กรุงเทพฯ 7 ส.ค.-รมว.แรงงาน กระตุ้นเตือนนายจ้างในพื้นที่สีแดงเข้ม รีบยื่นขอรับเงินเยียวยาผ่าน e-service เว็บไซต์ สปส.
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เห็นความยากลำบากและมีความห่วงใยพี่น้องแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงมีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการ “ล็อกดาวน์” ในพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา เพิ่มเติม จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา ครอบคลุม 9 ประเภทกิจการ นั้น ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร นั้น
นายสุชาติ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการเยียวยากลุ่มนายจ้างมาตรา 33 จำนวน 3,000 บาท ต่อลูกจ้างไม่เกิน 200 คน นั้น ขณะนี้มีนายจ้างได้ทยอยยื่นขอรับเงินชดเชยเข้ามาในระบบ e-service โดยในพื้นที่ 13 จังหวัดนั้น มีนายจ้างทั้งหมดประมาณ 180,000 ราย
ทั้งนี้ รมว.แรงงาน ยังได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม เร่งประชาสัมพันธ์กระตุ้นเตือนไปยังนายจ้างที่ยังไม่ได้ยื่นขอรับค่าชดเชยเยียวยาสามารถยื่นความประสงค์ขอรับเงินได้ที่ ระบบ e – service ของประกันสังคม จากนั้นปริ้นข้อมูลแบบรับการเยียวยาแล้วกรอกข้อมูลตามแบบฟอร์ม ส่งกลับมาให้ประกันสังคมโดยถ้าเป็นนายจ้างที่เป็นนิติบุคคลต้องแนบเลขบัญชีธนาคารกลับมาด้วย แต่ถ้าเป็นนายจ้างบุคคลธรรมดาให้นายจ้างผูกพร้อมเพย์กับบัตรประชาชนเพื่อประกันสังคมจะได้โอนเงินให้โดยเร็ว
“รัฐบาล กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความห่วงใยและเห็นความสำคัญของนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกอบการในพื้นที่สีแดงทุกจังหวัด และเข้าใจดีว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ทำให้ทุกคน ทุกกลุ่ม และหลายกิจการได้รับความเดือดร้อนตาม ๆ กัน จึงอยากให้นายจ้างได้รีบยื่นขอรับเงินเยียวยา อย่างน้อยจะช่วยบรรเทาเพื่อลดผลกระทบในเบื้องต้น และช่วยประคองให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ ตามเจตนารมย์ของรัฐบาลที่จะฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจให้เดินได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด.-สำนักข่าวไทย