กรุงเทพฯ 27 ก.ค. – กรมอนามัย แนะ 3 แนวทางในการจัดการศพที่เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 อย่างปลอดภัย ตั้งแต่โรงพยาบาลจนถึงวัด พร้อมเน้นย้ำทีมจัดการศพให้ใส่ชุด PPE เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 เมื่อกลับถึงบ้านให้อาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก รวมถึงจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นความสูญเสียที่กรมอนามัยต้องขอแสดงความเสียใจกับทุกครอบครัวที่ได้รับผลกระทบและสูญเสียสมาชิกไปด้วยโรคโควิด-19 ดังนั้น การจัดการศพผู้ที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 อย่างปลอดภัย กรมอนามัย มีคำแนะนำ 3 แนวทาง ดังนี้
1) ยืนยันสาเหตุการตาย โดยแยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 เสียชีวิตในโรงพยาบาล จะดำเนินการโดยทีมจัดการศพ โดยศพผู้เสียชีวิตจะถูกบรรจุใส่ถุงบรรจุศพ และทำความสะอาดฆ่าเชื้อภายนอกถุงบรรจุศพตามมาตรฐาน แพทย์ที่ทำการรักษาจะออกหนังสือรับรองการตาย (ท.ร.4/1) ระบุสาเหตุการตายว่าเป็นการตายด้วยโรคโควิด-19 ส่วนกรณีที่ 2 เสียชีวิตนอกโรงพยาบาล ทีมจัดการศพจะนำศพใส่ถุงบรรจุศพตามมาตรฐาน แล้วแจ้งพนักงานสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือพนักงานควบคุมโรคติดต่อของโรงพยาบาล โดยให้แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และตำรวจชันสูตรพลิกศพ บันทึกสภาพศพ และหลักฐานต่างๆ ลงสาเหตุการตาย โดยให้ผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ออกหนังสือรับรองการตาย (ทร.4)
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า แนวทางถัดมาคือ 2) การแจ้งตาย กรณีเสียชีวิตทั้งในและนอกโรงพยาบาล ให้นำเอกสารรับรองการตาย (ทร.4) จากโรงพยาบาล พร้อมด้วยบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน นำไปแจ้งการตายต่อนายทะเบียน ณ ที่ทำการปกครองอำเภอหรือท้องถิ่น และออกใบมรณบัตรภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้ญาติสามารถนำศพออกจากโรงพยาบาลไปฌาปนกิจได้ และ 3) การขนศพผู้เสียชีวิตและการประกอบพิธีทางศาสนา กรณีญาติมีความพร้อม หลังจากที่ญาติรับทราบแนวปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และมีใบมรณบัตร สามารถประสานวัดและอาสาสมัคร หรือกู้ภัย หรือมูลนิธิ เพื่อขนศพ แต่หากญาติไม่มีความพร้อม หรือติดโควิดทั้งครอบครัว และศพไม่มีญาติ ให้แจ้งโรงพยาบาลเพื่อประสานกับทางวัด เพื่อดำเนินการขนศพ ซึ่งขณะนี้ระบบ Thai Stop COVID+ ของกรมอนามัย ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รวบรวมข้อมูลรายชื่อวัดที่รับฌาปนกิจผู้ติดเชื้อโควิด-19 ฟรี โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อวัด สถานที่ตั้ง และแผนที่วัด ได้ที่ https://stopcovid.anamai.moph.go.th/dashboard_regious/
“ทั้งนี้ การจัดพิธีศพทางศาสนา ทั้งการเผาศพ หรือฝังศพทั้งถุง ขอให้ดำเนินการในพื้นที่ที่จัดเตรียมเฉพาะ ห้ามเปิดถุงบรรจุศพอย่างเด็ดขาด เนื่องจากอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ ควรดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 24 ชั่วโมง หรือ 1 วัน และขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ซึ่งการเผาศพที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ให้ใช้เตาเผาศพเท่านั้น หลีกเลี่ยงการเผากลางแจ้ง และควรใช้เตาเผาศพปลอดมลพิษแบบสองห้องเผา ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิในห้องเผาศพไม่น้อยกว่า 760 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิในห้องควันไม่น้อยกว่า 1,000 องศาเซลเซียส ตลอดระยะเวลาการเผาศพ โดยในระหว่างการเผาศพ ไม่ควรเปิดประตูเตาเผาศพ หลีกเลี่ยงการเขี่ยศพหรือพลิกศพ เมื่อเผาศพเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถือได้ว่าเชื้อโรคถูกเผาทำลายไปหมดแล้ว จากนั้นให้ดำเนินการเก็บกระดูก เพื่อนำไปบำเพ็ญกุศลต่อไป สำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานในพิธีเผาศพ อาจไม่จำเป็นต้องใส่ชุด PPE หากไม่พบการฉีกขาดของถุงบรรจุศพ และภายหลังเสร็จพิธีเผาศพ เมื่อกลับถึงบ้านให้อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด. – สำนักข่าวไทย