กทม. 2มี.ค.-ผลสำรวจพบประชาชนส่วนใหญ่ระบุปัญหาของพุทธศาสนาในปัจจุบัน เกิดจากพระสงฆ์ตัดไม่ขาดทางโลก เสนอเร่งปฏิรูปพุทธศาสนาทั้งระบบ โดยพบสัดส่วนความต้องการเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2559 ที่ผ่านมา
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง“การปฏิรูปพุทธศาสนา” ในระหว่างวันที่ 27–28 ก.พ.2560 กรณีศึกษาจากประชาชนที่ นับถือศาสนาพุทธ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,250 หน่วยตัวอย่าง
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อสาเหตุหรือปัจจัยต่างๆที่ทำให้เกิดปัญหาของพุทธศาสนาในปัจจุบัน พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ55.84 ระบุว่าพระสงฆ์ตัดไม่ขาดจากทางโลก หลงในวัตถุนิยมลาภ ยศ สรรเสริญ ตำแหน่งทางสงฆ์ หรือบริโภคนิยม รองลงมาร้อยละ 49.76 พระสงฆ์ไม่อยู่ในหลักพระธรรมวินัย ทำให้มีข่าวฉาวเป็นประจำ เช่น พระสงฆ์เสพยาบ้า ดื่มสุรา ยุ่งสีกา พูดจาไม่สุภาพมีพฤติกรรมก้าวร้าว ,
ร้อยละ 40.32 การสร้างค่านิยมหรือความเชื่อเกี่ยวกับการทำบุญ ถวายทาน การสร้างศาสนสถาน การบริจาคสิ่งของแบบผิดๆ , ร้อยละ 36.64 วัดบางแห่งมีความเป็นพุทธพาณิชย์/เน้นวัตถุนิยม ,ร้อยละ 32.32 ระบุองค์กรที่ดูแลพุทธศาสนาอ่อนแอขาดประสิทธิภาพในการทำงานและตรวจสอบป้องกัน ,ร้อยละ31.36การบิดเบือนหลักคำสอนของพุทธศาสนา ,ร้อยละ 30.32 การบังคับใช้พระธรรมวินัยกฎหมาย บทลงโทษ ไม่เด็ดขาดพอ ,
ร้อยละ 27.36 การปกครองภายในวัดไม่มีประสิทธิภาพ, ร้อยละ 2.32 ระบุอื่นๆ ได้แก่ อยู่ที่ตัวบุคคล คนที่นับถือศาสนาพุทธบางคน ไม่เข้าใจถึงแก่นแท้หรือหลักพุทธศาสนา ขาดการใช้วิจารณญาณในเรื่องของความศรัทธาและปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยน แปลงไป รวมถึงมีเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้นจนทำให้เกิดปัญหาตามมา , ร้อยละ 1.36 ระบุพุทธศาสนาในปัจจุบันไม่มีปัญหาใด ๆ เลย และร้อยละ 0.96 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นประชาชนต่อความเร่งด่วนในการปฏิรูปพุทธศาสนาทั้งระบบ พบประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 66.48 ระบุการปฏิรูปพุทธศาสนาทั้งระบบเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน รองลงมาร้อยละ 21.12 ระบุเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการแต่ไม่เร่งด่วน ,ร้อยละ 10.00 ระบุไม่มีความจำเป็นในการปฏิรูปพุทธศาสนาเลย ,ร้อยละ 2.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ เมื่อ เปรียบเทียบกับผลสำรวจ ในปี2559 พบว่าสัดส่วนความต้องการปฏิรูปพุทธศาสนาทั้งระบบอย่างเร่งด่วนนั้นเพิ่มขึ้น
ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่ควรปฏิรูปพุทธศาสนาเรื่องต่างๆพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.94 ระบุว่า เป็นการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระภิกษุสงฆ์ให้มีความสอดคล้องกับพระธรรมวินัย รองลงมาร้อยละ 42.56 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทุกๆฝ่ายคอยสอดส่อง ดูแล พระภิกษุสงฆ์ ให้ประพฤติตนอยู่ในสมณเพศ และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ,ร้อยละ 42.19 เป็นการบังคับใช้พระธรรมวินัย กฎหมาย บทลงโทษ ทั้งทางโลกและทางธรรม ที่เคร่งครัดและเข้มงวด ,
ร้อยละ 42.01 เป็นการคัดกรองผู้จะเข้าบวชเป็นพระอย่างมีคุณภาพและเหมาะสม ,ร้อยละ 34.25 เป็นการเผยแพร่พุทธศาสนาที่ไม่บิดเบือน เป็นแก่นแท้และตรงคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า,ร้อยละ 32.42 เป็นการสร้างค่านิยม ความเชื่อเกี่ยวกับการทำบุญที่ถูกต้องและเหมาะสม อยู่ในความพอดี ,ร้อยละ 32.15 เป็นการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการ บทบาท หน้าที่และอำนาจมหาเถรสมาคม (มส.), ร้อยละ 31.32 เป็นการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการ บทบาท หน้าที่และอำนาจของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ,ร้อยละ 26.39เป็นการส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางพุทธศาสนา ร้อยละ 0.64 ควรปฎิรูปทุกด้าน และร้อยละ 1.83 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ.-สำนักข่าวไทย