กรุงเทพฯ 27 มิ.ย. – “สุชาติ” ถกสมาคมก่อสร้างฯ แจงมาตรการเยียวยาคนงานช่วงปิดแคมป์ 1 เดือน ชงเสนอ ครม.ปิด 15 วันแรก หากไซต์งานใดสอบผ่าน ไม่ติดเชื้อเพิ่ม และได้ฉีดวัคซีน อาจได้เปิดก่อนกำหนด 1 เดือน
27 มิถุนายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมระหว่างกระทรวงแรงงาน กับผู้ประกอบการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 24 คน อาทิ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท ฤทธา จำกัด บริษัท ทวีมงคลก่อสร้าง จำกัด บริษัท ยูเวิร์ค 999 จำกัด บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ฯลฯ เพื่อหารือแนวปฏิบัติกรณีปิด (Seal) แคมป์คนงานก่อสร้าง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในกลุ่มแรงงานไทยและต่างด้าว พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม
โดย รมว.แรงงาน กล่าวว่า ตามมติให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง งดการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในคลัสเตอร์แคมป์คนงานนั้น และได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน ดูแลค่าใช้จ่าย เงินชดเชยให้แก่ลูกจ้าง แทนผู้ประกอบการ ในช่วงที่มีการปิดแคมป์ กระทรวงแรงงานจะจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 เนื่องจากสถานประกอบการถูกปิดตามคำสั่ง ศบค. โดยให้สำนักงานประกันสังคม จ่ายเป็นเงินสด 50% ของค่าจ้าง ให้คนงานทุกๆ 5 วัน พร้อมดูแลเรื่องอาหารทุกมื้อ ตลอด 1 เดือน ตามรายชื่อที่นายจ้างรับรองวันต่อวัน ตลอดเวลาการปิดแคมป์ก่อสร้าง นอกจากนี้ ยังมีระบบการตรวจสอบว่า แรงงานที่จะได้รับการเยียวยาจะต้องอยู่ในแคมป์ก่อสร้าง หากไม่อยู่ก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าว เช่น ค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท จะจ่ายชดเชย 7,500 บาท
ที่สำคัญกรณีมีข่าวตามสื่อว่า มีการเล็ดลอดของแรงงานกลับภูมิลำเนา ซึ่งผู้ประกอบการรายงานว่า เป็นส่วนน้อยเท่านั้น ผู้ใช้แรงงานส่วนมากยังคงอยู่ที่แคมป์ และได้รับการชดเชยค่าจ้างจากกระทรวงแรงงาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังกล่าวว่า จะนำเรียนนายกรัฐมนตรี แนะนำเรียน ศบค.ให้เสนอการประเมินทุก 15 วัน ว่า บางไซต์งานที่แรงงานได้รับวัคซีนเพียงพอสำหรับความปลอดภัย อาจจะปลดล็อกให้เปิดไซต์งานก่อสร้างนั้นก่อนได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังขอความเห็นใจต่อสังคมว่า ไม่อยากให้แรงงานหรือแคมป์คนงานก่อสร้าง ตกเป็นจำเลยของสังคมว่ามีส่วนสำคัญทำให้เกิดการระบาดของโควิด-19 เพราะโรคระบาดไม่ได้เลือกว่าจะเกิดกับใคร เกิดกับทุกคนที่สัมผัสเชื้อ สิ่งสำคัญที่สุด คือ วัคซีน ที่จะต้องช่วยเหลือธุรกิจให้พวกเขาเดินได้
นายสุชาติ ยังกล่าวว่า กรณีวัคซีนที่จะฉีดในกลุ่มเสี่ยงเฉพาะ เช่น ในแคมป์แรงงานก่อสร้าง ในส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ต้องมีการเคลื่อนย้ายทุกวัน ถ้ามองว่าตรงนี้เป็นต้นตอของการแพร่ระบาด ตนจะนำเสนอประเด็นนี้ต่อคณะกรรมการโรคติดต่อฯ ให้จัดวัคซีนมาฉีดให้กลุ่มนี้โดยเร็วที่สุด
ด้าน น.ส.ลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาแรงงานในสังกัดได้มีมาตรการเฝ้าระวัง ใส่หน้ากากอนามัย และปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติการขนส่งแรงงาน ผู้ประกอบการเข้าใจว่า การปิดไซต์งานครั้งนี้ ถ้าจะสามารถช่วยประเทศชาติได้ก็ยินดี แต่ภาครัฐต้องมีมาตรการที่ชัดเจน
นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ ยอมรับว่า หากปิดไซต์งานนานจะมีผลกระทบไปทั้งระบบ รวมทั้งซัพพลายเชน จึงอยากประเมินผลกระทบ 15 วัน เพื่อเปิดดำเนินการต่อ ซึ่งใน 15 วันแรก ทุกคนจะพยายามทำให้อยู่ในกรอบตามคำแนะนำของรัฐบาลและที่กระทรวงแรงงานแนะนำ
กระทรวงแรงงาน ยังจะประสานกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุก (swab) แก่แรงงานในแคมป์คนงาน 100% หากตรวจพบเชื้อจะต้องแยกตัวแรงงานเพื่อมาเข้าสู่การรักษาตามขั้นตอนของสาธารณสุข ส่วนผู้ที่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อก็จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมทั้งการเฝ้าระวังตรวจสอบทุกโรงงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ หรือ Bubble and Seal
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน ยังได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เข้าไปตรวจตราทำความเข้าใจกับนายจ้างผู้ประกอบการให้เข้มงวดมาตรการป้องกันโควิด-19 ของลูกจ้างในแคมป์คนงาน และกรมการจัดหางานเข้าไปตรวจสอบ หากพบว่ามีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายก็จะนำเข้าสู่ระบบ ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป. – สำนักข่าวไทย