รัฐสภา 13 ก.ย. – “พิพัฒน์” ชี้ขึ้นค่าแรง 400 บาท ต้องรอผลประชุมคณะกรรมการไตรภาคี ยันรัฐมนตรีไม่มีแทรกแซง ส่วนปม ปชน. เสนอลาคลอด 180 วัน ภท. ขอเจอคนละครึ่งทางที่ 120 วัน
การประชุมร่วมรัฐสภา เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลุกขึ้นชี้แจงเป็นรายประเด็น โดยประเด็นแรก คือ เรื่องของการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ต้องทำใน 2 มิติ คือ มิติของผู้ใช้แรงงาน และมิติของผู้ประกอบการ ต้องหาความสมดุลให้ได้ดีที่สุด หากเอียงหรือหนักไปทางข้างใดข้างหนึ่ง เชื่อว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้พิจารณาหารือในหลายๆ มิติว่า การประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาท เริ่มได้เมื่อไหร่ ซึ่งตนเองก็ได้ให้สัมภาษณ์อยู่หลายครั้งว่า เราจะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำพร้อมกันทั้งประเทศ ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เพราะต้องรอคณะกรรมการไตรภาคี ที่จะประชุมในวันที่ 17 และ 24 กันยายนนี้ เมื่อเราได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการไตรภาคี ก็จะประกาศขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคมได้
ส่วนแรงงานภาคใดที่ยังไม่ได้รับการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ในวันที่ 1 ตุลาคม ก็จะพิจารณาและประกาศอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 1 มกราคม 2568
ส่วนเรื่องสิทธิวันลาคลอด ในอดีตเราให้ 90 วัน แต่ปัจจุบันขยายให้ถึง 98 วัน โดยนายจ้างรับผิดชอบ 49 วัน ประกันสังคมรับผิดชอบ 49 วัน ซึ่งตนเองจะนำเสนอในรัฐบาลชุดนี้ แต่ได้ทราบว่า พรรคประชาชน ก็จะนำเข้าเสนอ 180 วัน ซึ่งพรรคภูมิใจไทยมีข้อเสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเจอกันคนละครึ่งทางที่ 120 วัน ซึ่งตนไม่ขัดข้อง แต่ขอให้สภาได้ตัดสิน ทางกระทรวงแรงงานพร้อมที่จะปฏิบัติตาม ในกรณีที่สภาได้มีการลงมติร่วมกัน
ส่วนกรณีการพัฒนาประสิทธิภาพของกองทุนประกันสังคม สำหรับเงินสมทบที่รัฐบาลปัจจุบัน ที่สมาชิกรัฐสภาได้ทวงเงินจากรัฐบาลให้กับกองทุนประกันสังคมนั้น คาดว่าภายใน 7 ปี จะใช้หนี้ให้กับกองทุนประกันสังคมได้หมด.-317-สำนักข่าวไทย