นครราชสีมา 21 มิ.ย. – ที่ จ.นครราชสีมา ป.ป.ช.ภาค 3 เตรียมลงพื้นที่สอบผลประโยชน์ทับซ้อนโครงการเสาไฟโซลาร์เซลล์ครึ่งแสน อบต.ห้วยบง
ความคืบหน้ากรณีชาวบ้านร้องเรียนโครงการก่อสร้างติดตั้งโคมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ถนนแยกบ้านห้วยบง เส้น 3165 และบ้านซับพลู – บ้านศิลาร่วม ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ระยะทาง 15.7 กิโลเมตร จำนวน 227 ต้น งบประมาณ 11,236,500 บาท ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2563 เฉลี่ยเสาไฟราคาต้นละ 49,500 บาท ใช้จ่ายงบประมาณแพงเกินจริงหรือไม่
ตรวจพบเสาโคมไฟระบบโซลาร์เซลล์ มีกำลังไฟ 150 วัตต์ ต้นเสาและโคมไฟมีขนาดเล็ก เสาสูงแค่ 4 เมตร เป็นเสาเหล็กกัลวาไนซ์ทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว ฐานเสาเป็นแผ่นเหล็กยึดกับแท่งซีเมนต์ขนาดเล็ก แผงโซลาร์เซลล์ ขนาด 30×40 เซนติเมตร และโคมหลอดไฟขนาดพอ ๆ กับฝ่ามือ ชาวบ้านในพื้นที่ให้ความเห็นว่า เสาไฟสเปกแบบนี้น่าจะมีราคาต้นละไม่เกิน 10,000-20,000 บาท
ส่วนบรรยากาศยามค่ำคืน ถนนบริเวณที่ติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ต้นละครึ่งแสน พบว่าให้แสงสว่างน้อยมาก บรรยากาศสลัว ไม่ค่อยสว่าง บางต้นดับมืดสนิท และบางต้นเหลือแต่เสา ไม่มีโคมไฟและแผงโซลาร์เซลล์
นายณัฐวุฒ ขมประเสริฐ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ภาค 3 เปิดเผยว่า เรื่องนี้ ป.ป.ช.ได้รับหนังสือร้องเรียนแล้ว และดำเนินการสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงทั้งรวบรวมเอกสาร สอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้อง มีความคืบหน้าไปมากพอสมควร ซึ่งจะเร่งรัดดำเนินการสอบสวนให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุดภายใต้กรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะเป็นการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมาก และสัปดาห์หน้าจะลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่จริง เพื่อเร่งสรุปสำนวนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดยพุ่งเป้าตรวจสอบ 3 ประเด็นหลัก คือ การใช้จ่ายงบประมาณ 11 ล้านบาท ไม่ผ่านความเห็นของสภา อบต.ห้วยบง โครงการดังกล่าวมีราคาแพงเกินจริง และประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนของ นายก อบต.ห้วยบง
ขณะที่มีชาวบ้านแจ้งข้อมูลว่า เมื่อเมษายน 2563 ปีเดียวกัน อบต.ห้วยบง มีการจัดซื้อไฟฟ้าส่องสว่าง LED พลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 17 ต้น งบประมาณ 493,000 บาท ติดตั้งไปแล้วบนถนนเส้นเดียวกัน เฉลี่ยต้นละ 29,000 บาท มีกำลังไฟ 200 วัตต์ ซึ่งมีราคาถูกกว่าเสาไฟต้นละครึ่งแสน แถมสเปกดีกว่าด้วยซ้ำ
เสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์หายไปกว่า 30 ต้น หลังถูกตรวจสอบ
ส่วนที่ จ.นครศรีธรรมราช หลังมีการตรวจสอบโครงการเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่อยู่ในลักษณะชำรุดหรือเสื่อมสภาพ ซึ่งเป็นโครงการจัดซื้อโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งเสาไฟแสงสว่างแบบ LED วงเงิน 194 ล้านบาท ติดตั้งริมถนน 22 สาย จำนวน 2,998 ชุด ราคาเสาละ 65,000 บาท ชาวบ้านเรียกติดปากว่า “เสาสุริยะเทพ” ซึ่งหลังจากมีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบ มีรายงานว่าเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่บริเวณริมถนนเลียบทางรถไฟรอยต่อระหว่าง ต.มะม่วงสองต้น อ.เมือง และ ต.นาสาร อ.พระพรหม หายไปอย่างไร้ร่องรอย กว่า 30 ต้น มีการถอดออกไปเหลือแค่ฐานเสาเท่านั้น
ขณะที่นายปราโมทย์ สวนประพัฒน์ นายก อบต.มะม่วงสอง ระบุว่า เจ้าของโครงการพยายามจะถ่ายโอนให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลมะม่วงสองต้น กว่า 100 ต้น แต่สภามีมติไม่รับ เนื่องจากการติดตั้งไม่ได้แจ้ง อบต. และเมื่อตรวจสอบดูแลจะต้องมีงบการบำรุงรักษาสูงมากจึงมีมติไม่รับ ส่วนเสาที่ถูกถอดออกหายไปเป็นจำนวนมากนั้นไม่ทราบเรื่องว่าเป็นใครเป็นผู้ถอด และไม่รู้เหตุผลว่าถอดทำไม. – สำนักข่าวไทย