ภูมิภาค 15 ก.ค.-เปิดรายละเอียด สถ.แจ้งด่วนผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด กำชับย้ำ อปท.อีกรอบให้ทำตามข้อเสนอแนะของ สตง.ในการจัดทำโครงการเสาไฟประติมากรรม ต้องสำรวจความต้องการประชาชนผ่านการทำประชาคมก่อน โดยให้คำนึงความคุ้มค่า ทำโครงการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้
ความคืบหน้าหลังสำนักข่าวไทย อสมท เสนอข่าวสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ พร้อมชาวบ้านจำนวนหนึ่ง เข้ายื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ขอให้ตรวจสอบโครงการเสาไฟประติมากรรมกินรีของ อบต.ราชาเทวะ ว่าเข้าข่ายการฮั้วประมูลหรือไม่ ล่าสุดจากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักข่าวไทย พบว่ากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ทำหนังสือแจ้งกำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง.อีกครั้งหนึ่ง
หนังสือฉบับดังกล่าว นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ลงนามเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.64 แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ขอให้กำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ดำเนินการเกี่ยวกับการติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะและการก่อสร้างเสาไฟฟ้าประติมากรรมพร้อมอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าของ อปท.ตามแนวทางดังนี้
1.กรณีจะดำเนินการจัดทำโครงการฯ ขอให้ อปท.ทำการสำรวจความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ผ่านการทำประชาคมท้องถิ่นก่อนนำบระจุเข้าแผนพัฒนาท้องถิ่น โดย อปท.ควรพิจารณาเลือกรูปแบบของเสาไฟฟ้าที่จะนำมาติดตั้งบนถนน ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิทัศน์ของท้องถิ่น ถ้าจะติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรมฯ ก็ควรพิจารณาถึงความสวยงาม หรือเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น หรือความเหมาะสมของจุดติดตั้งตามการใช้ประโยชน์ในสวนสาธารณะ หรือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ และคำนึงถึงความคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และตรวจสอบได้ เนื่องจากเสาไฟฟ้าประติมากรรมมีราคาสูงเมื่อเทียบกับราคาเสาไฟฟ้าแบบปกติ
การติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างบนถนน ควรเน้นเรื่องความปลอดภัยในการสัญจรของผู้ใช้ถนนในเวลากลางคืนเป็นหลัก ค่าความส่องสว่างและระยะห่างของเสาไฟฟ้าต้องเหมาะสม และเป็นไปตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
2.ส่วนกรณีที่ อปท.ได้ติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะและเสาไฟฟ้าประติมากรรมพร้อมอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าไปแล้ว อปท.ควรมอบหมายเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการจัดทำแผนการตรวจสอบสภาพการใช้งานของระบบไฟฟ้าแสงสว่างให้ครอบคลุม มีรอบระยะเวลาการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ และควรพิจารณาจัดตั้งงบประมาณสำหรับการแก้ไขซ่อมแซมอุปกรณ์ หรือเปลี่ยนใหม่ให้กลับมาอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติในทันที
นอกจากนี้ อปท.ควรจัดให้มีศูนย์ฯหรือเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุ และให้บริการแจ้งสถานภาพการให้บริการไฟฟ้าสาธารณะแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถแจ้งเหตุไฟฟ้าเสียหรือขัดข้องได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยการจัดระบบให้ประชาชนสามารถแจ้งเหตุไฟฟ้าสาธารณะขัดข้อง เช่น การเขียนหนังสือคำร้อง/หนังสือร้องเรียน แจ้งเหตุทางโทรศัพท์ แจ้งเหตุทางเว็บไซต์ของ อปท.หรือทางวิทยุสื่อสาร เป็นต้น และหลังได้รับแจ้งเหตุกรณีอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด อปท.ควรดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 24 ชม.
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวไทย อสมท ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังพบว่า ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2561 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเคยทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 4 กันยายน 2561 แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้กำชับ อปท.ที่จะทำโครงการเสาไฟฟ้าประติมากรรม ให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง.มาแล้วครั้งหนึ่ง เนื่องจาก สถ.ได้รับแจ้งจาก สตง.ว่า สตง.ได้ตรวจสอบโครงการเสาไฟประติมากรรมของ อปท.ในปีงบประมาณ 2560 พบว่ามีการจัดทำโครงการในลักษณะที่ไม่เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยเลือกรูปแบบเสาไฟที่มีราคาสูงและติดตั้งในจุดที่ไม่เหมาะสม ทำให้เสียงบประมาณเกินความจำเป็น
ต่อมาเกิดกรณีเสาไฟประติมากรรมกินรีของ อบต.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ ที่กำลังถูกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สตง. ป.ป.ช. ป.ป.ท. ตำรวจ ป.ป.ป. และล่าสุดคือดีเอสไอ เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังเกิดกระแสเรียกร้องในสังคมให้มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณในการจัดซื้อเสาไฟกินรีราคาสูงต้นละ 95,000 บาท จำนวนกว่าหมื่นต้น เป็นเงินรวมกว่า 900 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการตีแผ่เสาไฟประติมากรรมรูปแบบต่างๆ ในท้องถิ่นอีกหลายแห่ง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจึงได้ทำหนังสือกำชับ อปท.ในเรื่องนี้อีกครั้ง.-สำนักข่าวไทย