อ่างทอง 23 มิ.ย. – ป.ป.ช.อ่างทอง ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ อบจ.อ่างทอง หลังโซเชียลตั้งข้อสังเกตส่อล็อกสเปก
หลังจากมีข้อมูลเผยแพร่ออกมาเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง ซึ่งมีการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่เมื่อปี 2562 จนถึงปี 2564 จำนวน 44 สัญญา มูลค่า 412.37 ล้านบาท ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าคู่สัญญาที่ชนะการประมูลเป็นบริษัทเดียวกัน โดยมีการระบุใน TOR คุณลักษณะเฉพาะไว้ จนมีข้อสงสัยว่าจะมีการล็อกสเปกหรือไม่นั้น
ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปตรวจสอบบริเวณถนนสายคำหยาด-ยางซ้าย-ม่วงเตี้ย อ.โพธิ์ทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นจุดที่เพิ่งมีการก่อสร้างเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ดังกล่าว พบว่ามีการติดตั้งเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ตามโครงการอำนวยความปลอดภัยทางถนน โดยดำเนินการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ ความสูง 8 เมตร จำนวน 121 ต้น งบประมาณ 10,239,000 บาท เริ่มดำเนินการติดตั้งเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 และมีกำหนดสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2564 โดยพบว่ามีการติดตั้งเสาไฟฟ้าทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ซึ่งถนนดังกล่าวอยู่กลางทุ่งนาและมีรถสัญจรไม่มากนัก
เช่นเดียวกับถนนสายบางพลับ-บางหัก อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ที่ติดตั้งไฟฟ้าโซลาร์เซลล์เสร็จสิ้นไปแล้วในระยะทาง 2.7 กิโลเมตร มีไฟส่องสว่างทั้งสิ้น 110 ต้น เป็นที่น่าสังเกตว่าเป็นระบบไฟฟ้ารูปแบบเดียวกัน เมื่อตรวจสอบไปยังหน้าเว็บไซต์ของ อบจ.อ่างทอง พบว่ามีโครงการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างระบบโซลาร์เซลล์ในปี 2564 ทั้งสิ้น 12 โครงการ ซึ่งมีการประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-bidding และมีผู้ชนะการประกวดราคาทั้ง 12 โครงการ เป็นผู้ประกอบการรายเดียวกันทั้งหมด
นายสุรเชษ นิ่มกุล นายก อบจ.อ่างทอง ยืนยันว่า การประมูลเป็นระบบ E-Bidding ไม่สามารถฮั้วประมูลหรือล็อก สเปกได้ และชี้แจงถึงความจำเป็นการใช้ไฟฟ้าแบบโซลาร์เซลล์ เพราะสามารถลดค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าไฟฟ้า รวมถึงได้มีการประชาพิจารณ์กับประชาชนในพื้นที่ และพร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น
ขณะที่นางสาวลัดดา เดือนสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดอ่างทอง เปิดเผยว่า ป.ป.ช.อ่างทอง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโดยแยกเป็น 2 กรณี คือตรวจสอบทางกายภาพว่าเสาไฟฟ้าที่มาติดตั้งถูกต้องตามสเปกที่กำหนด และถนนที่ติดตั้งมีความเหมาะสมหรือไม่ จากการตรวจสอบพบว่าการติดตั้งเสาโซลาร์เซลล์ของ อบจ.อ่างทอง มีความจำเป็นที่จะต้องติดตั้ง เนื่องจากปัญหาในเรื่องของถนนที่ถ่ายโอนมาจากทางหลวงชนบททั้ง 60 สาย ไม่มีไฟทาง
ส่วนการที่ระบุสเปกของเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ทาง อบจ. ระบุใช้เสาเข็มลึกลงไปในดิน 4 เมตร เพราะถนนส่วนใหญ่เป็นถนนที่อยู่ติดกับคลองชลประทาน จำเป็นต้องมีเสาเข็มที่ลึก เพื่อป้องกันความเสียหาย.-สำนักข่าวไทย