รัฐสภา 14 มิ.ย.-ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติอนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 205 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง
การประชุมวุฒิสภา วันนี้ มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณาพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ วงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติอนุมัติแล้ว
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงสาระสำคัญว่า เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่ยุติลง โดยให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ รวมทั้งเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 และเพื่อช่วยให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตินี้ พร้อมย้ำว่า การก่อหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น กระทรวงการคลังจะดำเนินการด้วยความรอบคอบ และภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งรัฐบาลเล็งเห็นถึงความจำเป็นใช้เงินกู้เพื่อเตรียมความพร้อมทางการแพทย์และระบบสาธารณสุข และเพื่อรักษาความปลอดภัยสาธารณะและระบบเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกวุฒิสภาอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่สนับสนุนพระราชกำหนดกู้เงินฯ ฉบับนี้ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกวุฒิสภา ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้งบประมาณวงเงิน 30,000 ล้านบาท สำหรับการใช้จ่ายในด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการวิจัย และการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ควรจะต้องวางแผนไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณตรงจุดและตอบสนองต่อการรักษา พร้อมเสนอให้เร่งจัดสรรงบประมาณสำหรับการวิจัยสมุนไพรไทย ให้เป็นยารักษาโควิด-19 ทั้งการวิจัยฟ้าทะลายโจรและกระชายขาว หากมีการพัฒนา ตนเชื่อว่าอาจจะเป็นยาตำรับแรกที่ตรงกับการรักษาโควิด-19 นอกจากนี้ ขอให้เตรียมความพร้อมเพื่อจัดซื้อวัคซีนเข็มที่ 3 ให้เพียงพอ เพราะจากการทดสอบพบว่า วัคซีนเข็มที่ 2 มีภูมิคุ้มกันไม่ถาวร อยู่ได้อย่างน้อยเพียง 6 เดือน และมีแนวโน้มที่ลดลง จึงจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดระลอกใหม่และป้องกันการกลายพันธุ์ของไวรัส
ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา เห็นด้วยกับพระราชกำหนดดังกล่าวฯ ในการกู้เงินวงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤติโควิด-19 ที่ประเทศกำลังเผชิญ จึงจำเป็นจะต้องใช้จ่ายงบประมาณอย่างเร่งด่วน หากจะรอรับการจัดสรรจากงบประมาณประจำปี 2565 อาจจะไม่ทันต่อสถานการณ์ และที่สำคัญการกู้เงินในวงเงินดังกล่าว ไม่สามารถกระทำได้ในงบประมาณรายจ่ายประจำ เพราะเกินกว่ากรอบวินัยการเงินการคลังภาครัฐ ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 แต่ถ้ารัฐบาลจะมีการกู้เงินเพิ่ม ขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 โดยการขยายกรอบเงินกู้ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยการตราเป็นพระราชกำหนดฯ ให้มีผลบังคับใช้เฉพาะช่วงที่ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติ 2-5 ปี ซึ่งทำให้เกิดความโปร่งใส ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถตรวจสอบได้
ที่สุดแล้ว ที่ประชุมมีมติอนุมัติพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ วงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติอนุมัติแล้ว ด้วยคะแนนเสียง 205 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง .-สำนักข่าวไทย