รัฐสภา 22 ต. ค. – วุฒิสภา มีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ. การอุดมศึกษา พร้อมกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องอีก 3 ฉบับ ด้านตัวแทนรัฐบาล ยืนยันกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษาในร่างกฎหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการสร้างความเป็นเลิศของสถาบันการอุดมศึกษา
การประชุมวุฒิสภา วันนี้ (22 ต.ค.67) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติที่มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกันอีก 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. , ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .…ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว โดยสมาชิกวุฒิสภา ร่วมกันอภิปรายอย่างกว้างขวาง ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ ที่มุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จำเป็นต้องมีกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา การวางหน้าที่ในการจัดสรรเงินกองทุน รวมถึงการกำกับติดตามให้มีการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการส่งเสริมการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง พร้อมเสนอเสนอแนะว่า ในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 149 ช่วงวันที่ 13 – 17 ตุลาคมที่ผ่านมา มีการพูดถึงเรื่องปัญญาประดิษฐ์ และเป็นที่สนใจระดับโลก มีการพิจารณาผลกระทบของ AI ต่อประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม จึงหวังว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้จะช่วยสร้างคณะและสาขาวิชาที่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ เพื่อจะช่วยให้สังคมไทยก้าวทันเทคโนโลยีของระดับโลกได้
ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชี้แจงว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นการเพิ่มเติมจากร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษาปี 2562 ให้ครอบคลุมเรื่องการอุดมศึกษาและการวิจัย เพื่อให้มีการพัฒนาเรื่องความเป็นเลิศของสถาบันการอุดมศึกษาและส่งเสริมการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง จึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลเพิ่มเติมกองทุนเข้ามาเพราะให้ความสำคัญด้านการวิจัยและการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น เน้นเรื่องการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมในประเทศไทยในการสร้างให้ประเทศเจริญเติบโต ประชาชนได้ประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานที่รัฐบาลมีนโยบายและให้ความสำคัญ
ทั้งนี้ หลังการอภิปรายของสมาชิก ที่ประชุมวุฒิสภามีมติรับร่างพระราชบัญญัติทั้งนี้ 4 ฉบับ พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา จำนวน 21 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ ภายใน 7 วัน .319.-สำนักข่าวไทย