รัฐสภา 9 มิ.ย. -“อาคม” แจงความจำเป็นออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ย้ำใช้จ่าย 3 แผนงาน อุปกรณ์ทางการแพทย์ เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตามกรอบวินัยการเงินการคลัง มีความคุ้มค่าและโปร่งใส
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ในปี2563 ได้มีการออกพ.ร.ก.กู้เงิน โควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ใช้จ่ายรองรับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งปัจจุบันมีวงเงินกู้เหลือเพียง 1,764 ล้านบาท ทำให้ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากโควิดในระยะต่อไปได้ และจากสถานการณ์พบการระบาดในหลายคลัสเตอร์ แม้ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามเร่งรัดจัดหาวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ยังเป็นความเสี่ยงหลักที่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพวัคซีนได้ และการระบาดในระลอกใหม่ ทั้งนี้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ว่า จะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2564 ที่จะขยายตัวได้เพียง 1.5-2.5% และคาดว่าภาคการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบนักท่องเที่ยวลดลงจากปี 2563 ประมาณ 53% และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 4.4 แสนล้านบาท
นายอาคม กล่าวว่ารัฐบาลได้แก้ไขวิกฤตโควิดผ่านแหล่งเงินภายใต้กรอบกฎหมายที่มี แต่ด้วยข้อจำกัดการจัดเก็บรายได้ปี2564 ที่เป็นผลจากการแพร่ระบาดโควิด และหากรอแหล่งเงินจากงบประมาณปี 2565 จะไม่ทันต่อการแก้ปัญหาในระลอกใหม่ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วนในการแก้ไขสถานการณ์เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งถือเป็นกรณีฉุกเฉินรีบด่วน
สำหรับสาระสำคัญของพ.ร.ก.ฉบับนี้ คือ กำหนดให้กระทรวงการคลัง มีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงิน หรือออกตราสารหนี้ ไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.2565 โดยมีรายละเอียด 3 แผนงานด้วยกัน คือ 1.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของ โควิด-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข การวิจัยและพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการจัดหาวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ การเตรียมพร้อมห้องปฏิบัติการ และจัดซื้อคุรุภัณฑ์ทางการแพทย์ และเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรทางการแพทย์
2.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ช่วยผู้ประกอบอาชีพและผู้ประกอบการ สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง วงเงิน 300,000 ล้านบาท
3.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โควิด-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับรักษาระดับการจ้างงาน กระตุ้นการลงทุนและการบริโภค วงเงิน 170,000 ล้านบาท สำหรับพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
นายอาคม กล่าวว่า เพื่อให้การใช้จ่ายเงินกู้มีความโปร่งใส กำหนดให้กระทรวงการคลัง จัดทำรายงานผลการกู้เงินตามพ.ร.ก.รายงานต่อที่ประชุมสภาภายใน 60 วัน ยืนยันว่าการออกพ.ร.ก.ฉบับนี้ คำนึงถึงการรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศ ความคุ้มค่าและความโปร่งใส และการก่อหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น กระทรวงการคลังจะทำอย่างรอบคอบและอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง.-233.- สำนักข่าวไทย