รัฐสภา 1 มิ.ย.- นายกรัฐมนตรี ยืนยันเร่งแก้ปัญหาวัคซีนให้เพียงพอกับประชาชน ไม่ต้องการให้มีคนเสียชีวิตจากโควิด-19 แม้แต่คนเดียว แจงหนี้สาธารณะเพิ่ม ส่วนหนึ่งเอาไปใช้หนี้จากภาระจำนำข้าว พร้อมย้ำงบจัดหาอาวุธจำเป็นสำหรับป้องกันภัยคุกคามและจัดสรรเพียง 1 ใน 3 ของความต้องการ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลุกขึ้นชี้แจงต่อที่ประชุมสภา หลัง ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายพาดพิง ย้ำการจัดสรรงบประมาณปี 2565 ได้ไตร่ตรองและคัดกรองอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าตัวเลขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกเมื่อเทียบกับประเทศใหญ่แล้ว มียอดสูงทั้งสิ้น แม้แต่ในอาเซียนก็มีอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเทศไทย ยอดติดเชื้อเริ่มลดลง พร้อมยืนยันจะเร่งแก้ปัญหาโดยเร็ว ขณะเดียวกัน ตนคำนวณจำนวนวัคซีนในฐานะเคยเป็นทหารว่า ไทยมีเวลาฉีดวัคซีนให้ประชาชนตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ธันวาคม หากหาวัคซีนได้เพิ่มอีก 10 ล้านโดส ก็จะฉีดได้ประมาณ 70 ล้านคน ซึ่งอาจเป็นเข็มแรก และเข็มสองนั้น มีแผนรองรับการติดต่อสั่งซื้อให้เพียงพอ อีกทั้งวัคซีนอื่นเพิ่มเติมเข้ามาอีก ณ วันนี้ได้ซิโนแวค กับแอสตราเซเนกา ยืนยันได้รับวัคซีนตามแผนในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป และยังมีวัคซีนซิโนฟาร์มเข้ามาเสริมอีก ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ที่มาขึ้นทะเบียนกับไทย ก็มีแผนในไตรมาส 3-4
อย่างไรก็ตาม ปัญหาวัคซีนวันนี้ คือ ทั่วโลกกำลังแย่งวัคซีน จึงต้องเป็นวัคซีนของรัฐ ที่รัฐจะนำส่งออกได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทจะขออนุมัติจากรัฐบาลของเขา และโชคดีที่เราทำสัญญาไว้ก่อนแล้ว โดยย้ำว่าไทยมีงบประมาณไม่จำกัดในการจัดหาวัคซีน และการนำเข้าต้องผ่าน อย. เท่านั้น
สำหรับคุณภาพของวัคซีนนั้น นายกรัฐมนตรียืนยันว่า มีข้อมูลอ้างอิงจาก 3 สถาบัน พร้อมย้ำทุกการตัดสินใจอยู่ใน ศบค. ไม่ใช่ไปสั่งใคร ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีถอนหายใจ พร้อมยืนยันรัฐบาลกพยายามทำเต็มที่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน การที่ ส.ส. มาโจมตีว่าหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ก็อยากถามกลับว่า รู้หรือไม่ รัฐบาลตนใช้หนี้จำนำข้าวไปแล้ว 705,000 ล้าน เหลืออีก 280,000 ล้าน ต้องทยอยใช้อีก 12 ปี จึงจะหมดภาระ
นายกรัฐมนตรี ชี้แจงค่าใช้จ่ายการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ในปี 2563 และปี 2564 รวมทั้งสิ้น 21,134 ล้านบาท และโดยใช้งบกลาง 11,346 ล้านบาท จากงบเงินกู้ 9877 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงแค่จะใช้งบประมาณของกระทรวงเท่านั้น และการพิจารณาใช้งบกลางไม่สามารถตัดสินใจเองได้ แต่จะต้องขออนุมัติและมีกระบวนการตรวจสอบจากองค์กรภายในของรัฐบาลและองค์กรภายนอก ทั้ง สตง.-ป.ป.ท.-ป.ป.ช. ยืนยันไม่เคยถูกละเว้นการตรวจสอบ และสามารถชี้แจงได้ว่าทำตามกติกากฎหมาย ขณะเดียวกันยืนยันรัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งการพัฒนาวิจัยภายในประเทศ ซึ่งในปี 2563 สถาบันวิจัยจุฬาได้รับงบในการผลิตพัฒนาวัคซีน mrna 365 ล้านบาท และศูนย์วิจัยไพรเมท ในการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานด้านสัตว์ทดลองจำนวน 35 ล้านบาท รวมใช้งบประมาณกลางปี 2563 จำนวน 400 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับวงเงินกู้จากปี 2563 และปี 2564 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนาศักยภาพการผลิตและควบคุมคุณภาพวัคซีน 49 ล้านบาท ไบโอเนท พัฒนาและผลิตวัคซีนงบประมาณ 650 ล้านบาท มรภ.พระจอมเกล้าธนบุรี สำหรับโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติและพัฒนาห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง 562 ล้านบาท และองค์การเภสัชในการขยายศักยภาพการผลิตวัคซีนและการแบ่งบรรจุวัคซีน 239 ล้านบาท อีกทั้งยังมีงบประมาณของไบยาไฟโตฟาร์ม ในการวิจัยและทดสอบวัคซีน 164 ล้านบาท สวทช. โครงการพัฒนาวัคซีนต้นแบบ 200 ล้านบาท ซึ่งรวมแล้วใช้งบประมาณจากเงินกู้และงบกลาง 2260 ล้านบาท นี่คืองบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศ
ขณะที่โครงการความร่วมมือวิจัยกับต่างประเทศโดยบริษัทสยามไบโอซายน์ ใช้งบประมาณกลางปี 2563 จำนวน 600 ล้านบาท เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและนำมาผลิตภายในประเทศภายใต้มาตรฐานการควบคุมของประเทศเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนวัคซีนซิโนแวค การจัดหาจัดซื้อภายในประเทศจำนวนเกือบ 69.1 ล้านโดส โดยมีวัคซีนซิโนแวคจำนวน 8.1 ล้านโดส ใช้งบประมาณกลางปี 2564 วงเงิน 5,059 ล้านบาท ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนกา 26 ล้านโดส ใช้งบประมาณ กว่า 5,000 ล้านบาท ส่วนอีก 35 ล้านโดส 6,378 ล้านบาท นอกจากนี้ค่าฉีดวัคซีน ใช้เงินกู้ปี 2564 วงเงิน 1,520 ล้านบาท และมีค่ารักษาอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท จึงขอยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการดูแลประชาชน
“การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบกับทุกประเทศทั่วโลก โดยมุ่งหวังว่าไม่ต้องการให้คนไทยต้องเสียชีวิตแม้แต่คนเดียว เพราะผมรักประชาชน โดยได้คิดทุกวันว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และจะบริหารให้เกิดความทั่วถึงทุกพื้นที่ที่มีความจำเป็น ซึ่งไม่ได้ ไหวังผลประโยชน์ใดตอบแทน”นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงเรื่องการจัดซื้ออาวุธยุทธโธปกรณ์ ยืนยันไม่ต้องการให้มีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง แต่สิ่งที่สำคัญที่จะต้องประเมินคือภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไรบ้าง จะมีเหตุการณ์สู้รบหรือไม่ หรือความจำเป็นในการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สู้รบภายในประเทศหรือไม่ ซึ่งเป็นภารกิจของรัฐบาลที่จะต้องดูแล และรัฐบาลใช้งบประมาณในการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ รถยานเกาะ เพื่อเตรียมไว้สำหรับรองรับสถานการณ์ที่จะต้องดูแลให้ประชาชนเกิดความปลอดภัยและเป็นการจัดซื้อจัดหาเพียงจำนวน 1 ใน 3 ของความต้องการทั้งหมด . – สำนักข่าวไทย