กรุงเทพฯ 27 เม.ย. – ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุแรงงานไทยกว่าร้อยละ 98 แบกหนี้บานจากโควิดระลอกใหม่ แถมหวั่นตกงานเพิ่ม
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยปี 2564 สำหรับกลุ่มแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน จากผู้ใช้แรงงาน 1,256 ราย ระหว่างวันที่ 18-22 เมษายน 2564 พบว่า สัดส่วนร้อยละ 98.1 ของแรงงานไทย ระบุมีภาระหนี้สิน ถือว่าสูงสุดจากที่เก็บข้อมูลมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้จากหาเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จ่ายหนี้เดิม จ่ายหนี้บัตรเครดิต จ่ายค่าการศึกษาและค่าอินเตอร์เพื่อการศึกษา และราคาสินค้าเพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 45.5 ระบุมีรายได้เท่ารายจ่าย และร้อยละ 82 ระบุอัตรารายได้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาหลายปีแล้ว ทำให้ ร้อยละ 85.1 เจอภาวะผิดนัดชำระหนี้ และร้อยละ 60 ระบุภาระหนี้กระทบต่อการใช้จ่ายต้องลดลง และไม่สามารถออมเงินได้ อีกทั้ง ร้อยละ 71.5 ระบุว่าสถานการณ์ตอนนี้มีปัญหารายได้ไม่พอใช้จ่ายแล้ว ทำให้แรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท/เดือน มีหนี้ครัวเรือน 206,000 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.56 แยกเป็นหนี้ในระบบร้อยละ 71 หนี้นอกระบบร้อยละ 29 จากปี 2562 ที่มียอดหนี้ 159,000 บาท ถือเป็นภาระหนี้สูงสุดจากเก็บสำรวจมา 12 ปี
ทั้งนี้ จากการสำรวจสะท้อนว่ารายได้แรงงานที่มีรายได้ขั้นต่ำ อยู่ในภาวะตึงตัวสูง จากแบกรับภาระหนี้เพิ่มขึ้น ปัญหาค่าครองชีพสูง ต้องก่อหนี้เพื่อมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เงินออมในกลุ่มนี้หดตัวกว่า ร้อยละ 30 ต้องประหยัดใช้จ่ายมากสุด ไม่มีการลงทุนใหม่ๆ จึงจะกระทบตรงต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต และสะท้อนได้จากสำรวจเงินใช้จ่ายวันแรงงานที่ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี แรงงานกว่าร้อยละ 66 ระบุบรรยากาศวันแรงงานปีนี้ไม่คึกคัก ลดใช้จ่ายเหลือ 1,793 บาท/คน ลบ ร้อยละ 19.7 จากปี 2562 เป็นการติดลบปีแรกและทุบสถิติต่ำสุดรอบ 9 ปี ซึ่งในการสำรวจแรงงาน ร้อยละ 37 แสดงความวิตกว่ามีโอกาสตกงานสูง เฉพาะกลุ่มรับจ้างรายวันและภาคบริการ วิตกถึงร้อยละ 64.2
อย่างไรก็ตาม ภาคแรงงานต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการมากสุด คือ กระตุ้นใช้จ่ายและฟื้นเศรษฐกิจ ลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และลดปัญหาค่าครองชีพ ผ่านมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง โดยแรงงานเห็นด้วยที่จะฉีดวัคซีนโดยเร็ว เร่งหยุดการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุดและทบทวนอัตราจ้างแรงงานขั้นต่ำเมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจยังไม่พบสัญญาณการเลิกจ้าง
นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 จากจำนวนผู้ติดเชื้อยังสูงต่อเนื่อง และรัฐเพิ่มมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่และกิจกรรม จะทำให้การใช้จ่ายต่อวันลดลงเพิ่มเป็นร้อยละ 30 – 40 หรือหายไปวันละ 6,000 ล้านบาท จากเดิมประเมินไว้ลบร้อยละ 10 – 20 หรือเงินหายไป 3,000 ล้านบาทต่อวัน โดยประเมินว่ารัฐจะคลี่คลายได้ภายใน 2 เดือนหรือภายในมิถุนายนนี้ เงินใช้จ่ายก็จะหายไปประมาณ 300,000 ล้านบาท อาจเพิ่มเป็น 350,000 – 450,000 ล้านบาท หากหลังจากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่น้อยกว่า 100 คนต่อวัน อาจมีผลต่อจิตวิทยา ชะลอใช้จ่ายเดือนละ 100,000 ล้านบาท และอาจเสี่ยงต่อการเลิกจ้างและอัตราว่างงานเพิ่มขึ้น ที่สำคัญแรงงานระบุหากตกงานเงินที่มีรอยู่พอใช้จ่ายได้แค่ 3 – 4 เดือนเท่านั้น และมองว่าโอกาสหางานใหม่นั้นยากขึ้นในช่วงนี้ . – สำนักข่าวไทย