กรุงเทพฯ 18 เม.ย. –นักวิชาการทีดีอาร์ไอระบุกรณี ก.คมนาคม เตรียมประกาศกฎกระทรวงฯ ใช้แอปฯ เรียกรถส่วนบุคคลเป็นแท็กซี่ได้นั้น ต้องสร้างสมดุลกับรถแท็กซี่ที่มีอยู่ในระบบเดิม พัฒนาคู่ขนานให้ผู้ใช้บริการรับประโยชน์สูงสุด
นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึง กรณีที่กระทรวงคมนาคม เตรียมประกาศกฎกระทรวงฯ อนุญาตให้มีการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล มาใช้บริการเป็นรถแท็กซี่ โดยผู้โดยสารสามารถเรียกผ่านแอปพลิเคชัน นั้น เรื่องนี้ที่ผ่านมามีการจัดประชุมระดมความคิดเห็น ซึ่งก็มีข้อเสนอแนะ ท้วงติงในหลายประเด็น โดยส่วนตัวยังไม่ทราบว่าในประกาศกฎกระทรวงฯ ที่จะออกมา มีการนำข้อเสนอแนะจากฝ่ายต่างๆ ไปแก้ไขและใส่ไว้ในกฎกระทรวงฯ นี้หรือไม่
ที่ผ่านมา ภาพของการให้บริการรถแท็กซี่ ซึ่งเมื่อจะมีการนำรถส่วนบุคคลมาใช้มาใช้เป็นแท็กซี่ ต้องพิจารณาคู่ขนานกับการพัฒนาแท็กซี่ในระบบ โดยเฉพาะเรื่องจำนวนแท็กซี่ที่มีขณะนี้ เพราะต้องไม่ลืมว่าแม้จะมีบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันแล้ว แต่แท็กซี่ในระบบปัจจุบันหรือแท็กซี่มิเตอร์ ที่ประชาชนสามารถโบกใช้บนท้องถนน ก็ยังเป็นบริการหลักที่ประชาชนทุกกลุ่มใช้อยู่ หรือมีสัดส่วน 70-80 % ซึ่งผลการศึกษาที่ทีดีอาร์ไอ ที่เคยทำในอดีต พบว่ารถแท็กซี่มิเตอร์ ที่วิ่งให้บริการนั้น ในช่วงเวลาออกวิ่งรถ ยังมีช่วงชั่วโมงที่ผู้ขับรถที่ต้องวิ่งรถเปล่าอยู่สูง เมื่อเทียบชั่วโมงวิ่งที่รถมีผู้โดยสาร ซึ่งช่วงที่รถว่างนี้ ต้องวิเคราะห์ให้ทราบว่า เกิดจากปริมาณรถที่มีมากไปในระบบหรือไม่ หรือเป็นเรื่องการบริหารจัดการที่ผู้ขับขี่จะเข้าถึงผู้โดยสาร ซึ่งผู้ขับรถแต่ละคนอาจมีทักษะในการหาจุดรับผู้โดยสารต่างกันไป โดยหากรัฐบาล จะเปิดให้มีการนำรถส่วนบุคคลมาวิ่งเป็นรถแท็กซี่ได้ เพื่อเป็นทางเลือกและผู้ใช้บริการ จะได้ประโยชน์ ก็ต้องมีการติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด เพื่อในอนาคต จะได้ทราบว่าทั้งรถแท็กซี่เดิมและรถแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันนี้ มีสัดส่วนของชั่วโมงวิ่งที่มีและไม่มีผู้โดยสารเปลี่ยนไปอย่างไร หลังเริ่มใช้กฎกระทรวงฯ ใหม่ เพื่อนำปรับปรุงจำนวนรถที่เหมาะสมกับแท็กซี่ทั้ง 2 ระบบในอนาคต
นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ระบุด้วยว่าที่ผ่านมา รถแท็กซี่มิเตอร์ในระบบเดิม ก็มีปัญหาต้องแก้ไข เช่น จุดจอด เนื่องจากที่ผ่านมารถประเภทนี้ ประชาชนสามารถโบกใช้ได้ทั่วไป แต่ในประเทศไทย มีการพัฒนาจุดจอดรอผู้โดยสารของรถแท็กซี่ที่เพียงพอน้อยมาก โดยจะมีจุดจอดที่เห็นชัดเจน เช่น หน้าห้างสรรพสินค้าหรืออาคารสำนักงานใหญ่ๆ โดยในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ การพัฒนาบริการรถแท็กซี่ จะมีการสร้างจุดจอดรอที่เหมาะสม เพียงพอต่อการใช้บริการของผู้โดยสาร โดยปัจจุบันตั้งข้อสังเกตว่าบางพื้นที่ เช่น จุดจอดรถใกล้สถานีรถไฟฟ้า ซึ่งรถแท็กซี่จะเป็นระบบรถโดยสารเชื่อมต่อ ต้องมีการพัฒนาพื้นที่จอดให้เหมาะสม แต่ที่ผ่านมาไทยมีรถไฟฟ้า มีการก่อสร้างมานานแล้ว มีสถานีจำนวนมาก แต่ไม่มีการจัดการสิ่งเหล่านี้ที่ดี ซึ่งปัญหานี้ ก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง ในการเข้าถึงผู้โดยสาร ของคนขับแท็กซี่ และการที่แท็กซี่ จอดรอ หรือเข้ารับผู้โดยสารได้ทุกแห่ง ก็สร้างปัญหาการจราจร ติดขัดตามมา .-สำนักข่าวไทย