กรุงเทพฯ 31มี.ค.-ที่ประชุมผู้ถือหุ้น บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPCเห็นชอบแผนกู้เงิน 50,000 ล้านบาทใน 5 ปี ตั้งเป้าผลิตสินค้านวัตกรรม ตอบสนองเทรนด์โลกในสัดส่วนร้อยละ15 ของรายได้ในอนาคต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 ซึ่งในส่วนของไออาร์พีซีได้จัดบนหลักเกณฑ์เฝ้าระวังโควิด-19 เว้นระยะห่าง กำหนดผู้ร่วมประชุม 300 ราย หากมีจำนวนมากกว่านี้ได้จัดให้มีการนั่งชมผ่านระบบออนไลน์ในห้องประชุมย่อย
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนจัดหาเงินกู้ 5 ปี (ปี 2564-2568)วงเงิน 50,000 ล้านบาทตามแผนการใช้เงิน 5 ปีราว 89,351 ล้านบาทในส่วนนี้เป็นการชำระคืนเงินกู้-หุ้นกู้ 53,100 ล้านบาท และเงินลงทุนราว 36,251ล้านบาท ซึ่งที่มาของเงินนอกเหนือจากการกู้เงินใหม่แล้วที่เหลือจะเป็นเงินจากกระแสเงินสดการดำเนินการ แลผู้ถือหุ้นยังอนุมัติจ่ายปันผลจากกำไรสะสมส่วนที่ยังไม่ได้จัดสรร ตามงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ในอัตราหุ้นละ 0.06 บาท คิดเป็นวงเงินประมาณ 1,226 ล้านบาท กำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 20 เมษายน 2564
“ผลดำเนินการปีนี้คาดแนวโน้มจะดีขึ้นจากราคาน้ำมันสูงขึ้นทำให้ไม่ขาดทุนสตอกและยอดขายดีขึ้นจากเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันความผันผวนและเตรียมพร้อมลงทุนใหม่ที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค ทั้งด้านนวัตกรรมและอื่น ๆ เช่น Life Science ซึ่งบริษัทตั้งเป้าจะมีรายได้จากส่วนนี้ร้อยละ 15 ในอนาคตและมีสัดส่วนของการผลิตเกรดพิเศษเพิ่มจากสัดส่วนร้อยละ17-18เป็นร้อยละ30ของโพลีเมอร์ก็จำเป็นต้องเตรียมเงินให้พร้อม ซึ่งตามแผนจะต้องมีการออกหุ้นกู้ในปีนี้ด้วย”นายชวลิตกล่าว
สำหรับตัวอย่างการพัฒนานวัตกรรม เช่น ความร่วมมือกับบมจ.ปตท.ลงทุนธุรกิจ Melt Blown วงเงิน 600ล้านบาท เริ่มผลิตไตรมาส 4/64 และธุรกิจร่วมทุนผลิต Nitrile Butadiene Latex (NBL) คาดผลิตปี 2568 โดย Melt Blown ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย (PPE) หน้ากาก N95 ชุดกาวน์และแผ่นกรองอากาศ ส่วน NBL เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเป็นถุงมือทางการแพทย์ สองโครงการนี้จะช่วยประเทศ ลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ
ส่วนกระแสการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ในประเทศไทย คาดว่า ยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยจากเครื่องยนต์สันดาป ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าและยังต้องเตรียมพร้อมด้านทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น สถานีอัดประจุไฟฟ้า การพัฒนาศูนย์ซ่อมฯ และการพัฒนาผลิตแบตเตอรี่
ขณะเดียวกัน บริษัทมีโครงสร้างธุรกิจที่มีความพร้อมทั้งโรงกลั่นและปิโตรเคมี ซึ่งก็มีแผนศึกษาการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ของบริษัท เช่น โครงการผลิตอะโรเมติกส์ (MARS:Maximum Aromatics Project) ขยายกำลังการผลิตปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ สามารถลดการผลิตแก๊สโซลีนลงและเพิ่มกำลังการผลิตปิโตรเคมีได้ ซึ่งบริษัทเป็นธุรกิจที่มีการเชื่อมโยงโครงสร้างระหว่างโรงกลั่นกับปิโตรเคมีได้อย่างดี ทำให้มีขีดความสามารถจะประกอบธุรกิจปิโตรเคมี และพร้อมจะศึกษาแผนและตัวเทคโนโยลีต่าง ๆ ที่จะสามารถปรบตัวตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปของโลกได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งมีความสามารถผลิตเม็ดพลาสติกสำหรับชิ้นส่วนประกอบรถอีวีอีกด้วย
สำหรับแผนการลงทุนใน 5 ปี(ปี 2564-2568) ลงทุน ระดับ 36,000 ล้านบาท ลงทุนใน 7 โครงการ ได้แก่ 1.การลงทุนในโครงการ Strengthen IRPC เพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตในช่วง 4 ปี (2563-2566) ซึ่งบริษัทฯ ตั้งเป้ามีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 4,552 ล้านบาท 2.โครงการปรับปรุงความน่าเชื่อถือ (Reliability Improvement) ตั้งเป้าหมาย ประหยัดค่าใช้จ่าย 600 ล้านบาท 3. การลงทุนในโครงการ Ultra Clean Fuel (UCF) เพื่อรองรับการผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ปี 2566 4.โครงการ Infrastructure and Asset ระหว่างปี 2564- 2568 ตั้งเป้าหมายจะมี EBITDA อยู่ที่ 1,365 ล้านบาท 5.โครงการโนอาห์ (แผนเกษียณอายุก่อนกำหนด)เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของบริษัท ดำเนินการระหว่างปี 2564-2568 ตั้งเป้าหมายลดต้นทุน 4,067 ล้านบาท โดยทั้ง 5 โครงการนี้ จะเพิ่ม EBITDA และประหยัดงบลงทุนให้กับบริษัทรวม 14,000 ล้านบาท
6.โครงการ Specialty Product ที่เป็นการเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง กลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty) โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ Specialty เป็นร้อยละ 30 ในปี 2567 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 13 และ 7. โครงการ Galaxy ที่จะเป็นการต่อยอดการเติบโตทางธุรกิจ ซึ่งในแผน 5 ปีอาจจะมีเรื่องของการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ(M&A) ซึ่งเตรียมวงเงินไว้ประมาณ 8,000 ล้านบาท-สำนักข่าวไทย