ก.คมนาคม 4 ม.ค. – ก.คมนาคม ยอมรับเสนอ คสช.ออกมาตรา 44 แก้ปัญหาความปลอดภัยรถตู้โดยสาร คาดจะมีการประกาศคุมเข้มบังคับใช้กฎหมายเดือนมกราคมนี้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความไม่สบายใจต่อปัญหาอุบัติเหตุรถตู้โดยสาร โดยเฉพาะรถตู้ชนกับรถกระบะ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 25 ราย โดยนายกรัฐมนตรีแจ้งต่อกระทรวงคมนาคมว่า พร้อมใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นบังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าการกำหนดโทษทั้งโทษปรับ เช่น ผู้ขับขี่มีโทษไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย 5,000 บาท เจ้าของรถ 20,000 บาท โทษเหล่านี้จะพิจารณาปรับให้สูงขึ้น การดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำผิดทำให้เกิดอุบัติเหตุ และครอบคลุมถึงการกำหนดจุดจอดรถในส่วนต่างจังหวัด ที่ผ่านมาหลายพื้นที่ยังมีบริการรถตู้จอดรับผู้โดยสารตามจุด จะมีการประกาศให้เข้าไปจอดที่สถานีขนส่งแต่ละจังหวัด โดยขอให้ขนส่งจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดพื้นที่และเตรียมการ ต้องทำให้เสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560
ส่วนการใช้อำนาจตามมาตรา 44 หลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะสรุปแผนรายละเอียดการบังคับใช้กฎหมายให้สูงขึ้นอีกครั้ง คาดว่าจะสามารถออกได้ในเดือนมกราคมนี้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ยืนยันว่าต้องการแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด
นายอาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมเพิ่มแนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นจะมีมาตรการสำคัญ เช่น การกำหนดให้ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารทุกคนต้องติดจีพีเอส ภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ กำหนดจัดหน่วยเคลื่อนที่ของขนส่ง เพื่อตรวจความพร้อมสภาพรถและคนขับ ซึ่งจะมีคำสั่งให้จัดทำสมุดประจำตัวผู้ขับขี่ เพื่อบันทึกการปฏิบัติงานตามเวลามาตรฐานที่อยู่บนพื้นฐานความปลอดภัย เพื่อแก้ปัญหาการควงกะขับรถ แก้ปัญหาหลับใน รวมทั้งตรวจความพร้อมสภาพตัวรถ เพื่อแก้ปัญหาสภาพรถไม่มีความพร้อม ทั้งยางล้อ และจุดอื่นๆ
นอกจากนี้ จะมีมาตรการระยะยาว หลังจากที่ผ่านมามีผลศึกษาระบุชัดเจนว่า รถตู้โดยสารเป็นรถที่ไม่เหมาะนำมาใช้เป็นรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งต่างประเทศจะใช้ขนส่งสินค้า ที่ผ่านมาปี 2553 รัฐบาลจัดระเบียบให้รถตู้ทุกคันต้องจดทะเบียนเป็นรถสาธารณะ และมีอายุการใช้งานไม่เกิน 10 ปี ซึ่งรถในระบบทั้งหมดจะครบกำหนดปี 2564 ทำให้รถตู้จะหมดไปจากระบบ และระหว่างนี้กระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดผลักดันให้ผู้ประกอบการลงทุนเปลี่ยนเป็นรถโดยสารขนาดกลาง 20 ที่นั่ง หรือไมโครบัส หลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อหามาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน เช่น ยกเว้นภาษีนำเข้าต่างๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนรถ.-สำนักข่าวไทย