รัฐสภา 23 มี.ค.-“สมชาย” ชี้การเพิ่มอำนาจรัฐสภาและประชาชนส่งเรื่องทำประชามติได้ ส่อขัดรธน.ม.166 จ่อยื่นศาลรธน.ตีความ “คำนูณ” แนะรัฐเร่งหาทางออกไม่เช่นนั้นผ่านวาระ 3 ยาก
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุมรัฐสภามีมติให้แก้ไขเนื้อหามาตรา 9 ร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติว่า ที่ประชุมรัฐสภามีมติให้แก้ไขเนื้อหาโดยเพิ่มอำนาจรัฐสภาและภาคประชาชนสามารถส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) จัดทำประชามติได้ จากเดิมให้เป็นดุลยพินิจของครม.ฝ่ายเดียว อาจขัดกับมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร
“ยิ่งถ้าให้ต้องทำประชามติทุกเรื่องตามที่ภาคประชาชนเข้าชื่อเสนอมา อาจยิ่งมีปัญหา ถ้าต้องทำประชามติทุกเรื่องยิ่งไปกันใหญ่ กำลังรอดูว่าผลการแก้ไขเนื้อหามาตรา 9 ของกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติจะกระทบกับเนื้อหามาตราอื่น ๆเช่น มาตรา 10-11 และมาตราอื่น ๆ หรือไม่ ถ้าแก้แล้วมีเนื้อหาไม่ขัดรัฐธรรมนูญ อาจไม่ต้องยื่นตีความ แต่ถ้าแก้แล้วมีเนื้อหาไปขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จำเป็นต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งดูแนวโน้มแล้วคิดว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ” นายสมชาย กล่าว
ส่วนเมื่อแก้ไขเนื้อหามาตรา 9 แล้วยังเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ ส.ว.จะโหวตคว่ำร่างพ.ร.บ.ประชามติ วาระ 3 ใช่หรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ยังมั่นใจว่าร่างพ.ร.บ.ประชามติจะผ่านวาระ 3 แต่ถ้าไม่ผ่าน สามารถใช้ร่างพ.ร.บ.ประชามติฉบับเดิมทำประชามติเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญได้
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า การแก้ไขมาตรา 9 ร่างพ.ร.บ.ประชามติสมาชิกรัฐสภาบางส่วนและรัฐบาลเห็นว่าขัดหลักการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจและขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 แม้เนื้อความในมาตรา166 ตอนท้ายเขียนว่าให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่กฎหมายที่ออกมาควรทำหน้าที่เพียงขยายความ กำหนดขั้นตอนรายละเอียดในการปฏิบัติให้ชัดเจน ไม่ควรบัญญัติหลักการเกินกรอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรณีนี้รัฐธรรมนูญกำหนดหลักการให้ครม.มีอำนาจพิจารณาใช้ดุลพินิจตัดสินใจจัดทำประชามติ แต่หากเนื้อหาที่แก้ไขบัญญัติให้รัฐสภาหรือประชาชนเข้าชื่อกันให้ครม.จัดการออกเสียงประชามติได้ อาจเป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้
“ขณะนี้สำนักงานกฤษฎีกาอยู่ระหว่างปรับแก้มาตราต่อเนื่องจากมาตรา 9 ให้มีกรอบที่ไม่มัดมือครม.เกินไป ซึ่งกมธ.จะนัดพิจารณาวันที่ 1-2 เม.ย.นี้ เชื่อว่านอกจากจะพิจารณาเนื้อหาที่กฤษฎีกาเสนอแล้ว อาจมีข้อเสนอจากกมธ. อาทิ ให้ชะลอการบังคับใช้มาตรา 9 ซึ่งรัฐบาลต้องมีทางออกหลายวิธี โดยอาจจะให้ผ่าน แล้วเสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขมาตรา 9 ไม่เช่นนั้นผมเชื่อว่าร่างพ.ร.บ.ประชามติผ่านวาระ 3 ยาก อาจเกิดกรณีถามหาความรับผิดชอบด้วยการยุบสภาฯ ซึ่งส.ส.ไม่ต้องการ” นายคำนูณ กล่าว.-สำนักข่าวไทย