กรุงเทพฯ 22 ก.พ. – “สุริยะ” สั่ง สมอ. เร่งควบคุมสินค้ากระดาษและภาชนะกระดาษที่ใช้สัมผัสอาหาร
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด สมอ. เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมาว่า บอร์ด สมอ. (คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) มีมติเห็นชอบให้ “กระดาษสัมผัสอาหาร” เป็นสินค้าควบคุม เพื่อให้กระดาษที่ใช้สัมผัสอาหารมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ และลดความเสี่ยงจากสารเคมีอันตรายซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่อาจปนเปื้อนออกมาสู่อาหารและเข้าสู่ร่างกายได้ บอร์ด สมอ. จึงให้ประกาศเป็นสินค้าควบคุม จึงกำชับให้ สมอ. เร่งรัดดำเนินการเพื่อความปลอดภัยของประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษของไทยให้เป็นที่ยอมรับและแข่งขันได้กับต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบมาตรฐานอื่นๆ อีกรวม 16 มาตรฐาน อาทิ สีเคลือบกึ่งเงาแอลคีด สีเคลือบด้านแอลคีด แถบพีวีซีกันซึมระหว่างรอยต่อคอนกรีต ชุดประกอบสวิตช์เกียร์และเกียร์ควบคุมไฟฟ้าแรงดันต่ำ และไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์สำหรับอุตสาหกรรม อีกด้วย
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า กระดาษสัมผัสอาหาร มอก. 2948-2562 ประกาศใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2562 แต่ไม่มีผู้ประกอบการมายื่นขออนุญาตแม้แต่รายเดียว ทั้งที่ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษเกือบ 600 ราย โดยในปี 2562 มีปริมาณการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษมากกว่า 2 ล้านตัน และมีความต้องการใช้ในประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีความสะดวกในการใช้งาน ในขณะเดียวกันยังมีผู้ผลิตทำสินค้าด้อยคุณภาพออกมาจำหน่ายในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก สร้างความไม่ปลอดภัยให้กับประชาชน เนื่องจากมีสารเคมีอันตราย หรือโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และสารกลุ่มทาเลต ที่เคลือบอยู่บนกระดาษ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งปนเปื้อนออกมาสู่อาหารและเข้าสู่ร่างกาย
บอร์ด สมอ. จึงมีมติเห็นชอบให้กระดาษสัมผัสอาหารเป็นสินค้าควบคุม โดยข้อกำหนดในมาตรฐานจะครอบคลุมถึงกระดาษ กระดาษแข็ง และภาชนะกระดาษที่ไม่ใส่สีในเนื้อกระดาษ มีวัตถุประสงค์สำหรับใช้ห่อหุ้ม บรรจุ รวบรวม หรือรองรับอาหาร เช่น จาน ชาม ถาด ถ้วย กล่อง ถุง ที่ทำจากกระดาษ หรือกระดาษแข็ง รวมถึงภาชนะที่ทำจากเยื่อกระดาษ สำหรับใช้กับอาหารทั่วไปและอาหารบรรจุขณะร้อน ทั้งแบบที่สัมผัสอาหารโดยตรงและไม่สัมผัสอาหารโดยตรง ที่มีโอกาสปนเปื้อนของสารเคมีไปสู่อาหารได้ โดยจะมีการควบคุมและทดสอบปริมาณสารเคมีอันตราย หรือโลหะหนักที่มีโอกาสปนเปื้อนกับอาหาร เช่น ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท สารกลุ่มทาเลต ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยไม่เป็นอันตรายกับผู้ใช้ ทั้งนี้ ในกระบวนการผลิต และสถานที่ผลิตจะต้องถูกสุขลักษณะที่ดีสำหรับการผลิต และต้องได้รับการรับรองตามหลักเกณฑ์ของสากล เช่น GMP HACCP หรือ BRC ด้วย โดยคาดว่ามาตรฐานดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนสิงหาคม 2564 นี้ – สำนักข่าวไทย