14 ม.ค.- “หมอยง” ไขข้อสงสัยประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 พิจารณาจากตัวเลขไม่ได้ ต้องดูอย่างอื่นประกอบ พร้อมยกตัวอย่างการทดสอบวัคซีนในอดีต เมื่อนำไปทดสอบในกลุ่มตัวอย่างที่เสี่ยงสูง ประสิทธิภาพการป้องกันก็จะต่ำตามไปด้วย
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงกรณีผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค ที่สังคมกำลังตั้งคำถามว่า จำเป็นที่จะต้องตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึก เพราะการศึกษามีความแตกต่างกันทั้งสถานที่ กลุ่มตัวอย่าง ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญต่อผลประสิทธิภาพการป้องกันโรค เพราะการทดลองในกลุ่มตัวอย่างที่มีความเสี่ยงสูง ประสิทธิภาพการป้องกันก็จะต่ำไปด้วย เช่น การศึกษาวัคซีน HIV ในประเทศไทยได้ประสิทธิภาพป้องกันกันโรคได้ 30% ศึกษาที่แอฟริกาได้ 0% เพราะแอฟริกามีความเสี่ยงสูงกว่าไทย
เช่นเดียวกับกรณีการทดลองวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวคที่การศึกษาในตุรกีพบมีประสิทธิภาพการป้องกัน 90% อินโดนีเซีย 60% และบราซิล 50% ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบผลออกมาเช่นนี้ เพราะบราซิลนำวัคซีนไปทดสอบกับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้ผลประสิทธิภาพการป้องกันต่ำ พร้อมย้ำว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนไม่สามารถพิจารณาจากตัวเลขอย่างเดียว แต่ต้องดูอย่างอื่นประกอบด้วยโดยละเอียด
ทั้งนี้เป้าหมายของการวิจัย พัฒนาวัคซีนโควิด-19 โดยเป้าหมายสูงสุดคือ วัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อ รองลงมาอาจเป็นติดเชื้อแต่ไม่เป็นโรค หรือท้ายที่สุดคือ เป็นโรคแต่โรคไม่รุนแรง ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล โดยขณะนี้ที่สถานการณ์ของโรครุนแรงวัคซีนเป็นที่ต้องการสูง วัคซีนมีให้เลือกไม่กี่บริษัท ซึ่งในปัจจุบันมีเพียง 8 บริษัทเท่านั้นที่ทดลองไปถึงระยะที่ 3 แล้ว จึงเป็นเรื่องปกติที่จะต้องแย่งกัน
หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังเสนอว่า ให้รัฐบาลนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวค ไบโอเนท มาในจำนวนที่น้อย เพื่อนำมาฉีดให้กับบางกลุ่มก่อนที่จะนำเข้ามาล็อตใหย่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อดูการตอบสนองของวัคซีน .-สำนักข่าวไทย