สธ.12 ม.ค. -สธ.ชี้แนวโน้มการระบาดของโควิดในผู้ป่วยรายใหม่เริ่มชะลอลง ย้ำปัจจัยการแพร่ระบาดเกิดจากอยู่ในพื้นที่แออัด คนหนาแน่น พร้อมย้ำมีการปรับปรุงแอปฯ หมอชนะให้รวดเร็ว แก้ปัญหาหารเปลืองแบตและใช้ไม่คิดค่าเน็ต
นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19ของประเทศไทย เฉพาะระบาดระลอกใหม่ ผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ 15ธ.ค.63-12 ม.ค.64 จำนวน 6,597 คน หายแล้ว 2,792 คน รักษาใน รพ.2,588 ราย อยู่ รพ.สนาม 870 คน ในผู้ที่รักษาในรพ.อาการหนัก 28 คนใส่ท่อช่วยหายใจ 11 คน อัตราป่วยตาย 0.1%
ส่วนแนวโน้มการติดเชื้อระลอกใหม่เฉพาะที่ติดเชื้อในประเทศและอยู่ในระบบบริการสาธารณสุข นับตั้งแต่18 ธ.ค.63แนวโน้มสูงขึ้นอย่างเชัดเจน แต่สัปดาห์นี้แนวโน้มรายใหม่คงที่และเริ่มชะลอตัวลง ซึ่งพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก คือ จ.สมุทรสาคร กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ระยอง ชลบุรี จันทบุรี นนทบุรี อ่างทอง และเชียงใหม่ ส่วนจังหวัดอื่นๆส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อลักษณะกระจัดกระจายไม่มีการแพร่ระบาดวงกว้าง
นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวด้วยว่า หากมองภาพของพื้นที่ที่มีรายงานผู้ป่วยจำนวนมาก 1.สมุทรสาคร สถานการณ์พบการติดเชื้อต่อเนื่องทั้งจากระบบบริการและการค้นหาเชิงรุก ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อเป็นแรงงานต่างด้าว ในปัจจุบันจำนวนพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่ไม่ลดลง ในพี้นที่จึงมีการเร่งติดตามมาตรการจำกัดการเดินทางและค้นหาในสถานประกอบการและแรงงานต่างด้าวอย่างต่อเนื่อง 2.นนทบุรี ไม่มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ ค้นหาเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงต่อเนื่องในกลุ่มเชื่อมโยงสถานบันเทิงและตลาดสดที่มีความสัมพันธ์ในแรงงานต่างด้าว
3.ชลบุรี แนวโน้มคงตัว แต่มีการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงต่อเนื่องคือในอ.ศรีราชาและบางละมุงจะขยายค้นหาในวงกว้างขึ้น 4.ระยอง แนวโน้มลดลงและจะมีการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงต่อเนื่อง และ5.จันทบุรี ไม่มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ เน้นค้นหาเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงต่อเนื่อง ภาพรวมสถานการณ์การติดโควิด-19ระลอกใหม่ในประเทศไทยเริ่มมีแนวโน้มคงตัว
โดยยังพบผู้ป่วยในจังหวัดใหม่ที่มีความเชื่อมโยงการระบาดในพื้นที่เดิม และพบจากการตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และผู้ที่มีประวัติเข้าไปในสถานที่มีความเสี่ยง และจากการค้นหาเชิงรุก
ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดการติดเชื้อวงกว้างของระลอกใหม่ คือ กิจกรรมที่อยู่ในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก มีความแออัด ใกล้ชิด และไม่ได้มีการป้องกันที่เพียงพอในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยและการเข้ามาของแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ ซึ่งมีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างแออัด ดังนั้น มาตรการควบคุมโรคที่ประสบความสำเร็จโดยเร็ว จึงต้องการทั้งการควบคุมและจำกัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยง การปิดสถานที่มีความเสี่ยง และค้นหาประชากรที่มีความเสี่ยงได้รับการคัดกรอง รวมทั้งการยกระดับมาตรการองค์กรและส่วนบุคคลในการป้องกันควบคุมโรค
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล(องค์การมหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้มีการอัพเดทการทำงานของแอปพลิเคชันหมอชนะจากเดิมที่มีปัญหาเรื่องเปลืองแบตเตอรี่มือถือ ขณะนี้มีการปรับปรุงแล้วทำให้ไม่เปลืองแบตเตอรี่มือถือ รวมถึงไม่คิดค่าบริการอินเตอร์เน็ต..-สำนักข่าวไทย