กรุงเทพฯ 11 ม.ค. – กรมชลประทานเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะลุ่มน้ำปัตตานีที่ จ.ปัตตานี และยะลา น้ำที่ระบายจากอ่างเก็บน้ำบางลาง ส่งผลให้แม่น้ำปัตตานีล้นตลิ่งหลายแห่ง
นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาการอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดสงขลาและนราธิวาส มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มคาดว่า สถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติในเร็ววันนี้ ส่วนที่จังหวัดยะลาและปัตตานี น้ำจากแม่น้ำปัตตานีเอ่อล้นตลิ่งแม่น้ำปัตตานีเป็นแห่งๆ ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องทำให้ล่าสุดอ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลามีน้ำ 1,435 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 99 % จึงเปิดระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำล้น (Spillway) 322 ลบ.ม./วินาที ที่สถานีวัดน้ำท่า X.10A บริเวณสะพานเดชานุชิต อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ยังคงมีน้ำล้นตลิ่ง 30-45 เซนติเมตร
นายสัญญา กล่าวต่อว่า กรมชลประทานติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งอย่างต่อเนื่อง โดยที่จังหวัดนราธิวาสติดตั้งเครื่องสูบน้ำรวม 20 เครื่อง แบ่งเป็นอำเภอเมือง 8 เครื่อง เจาะไอร้อง 2 เครื่อง ตากใบ 8 เครื่อง และสุไหงปาดี 2 เครื่อง ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำรวม 8 เครื่อง แบ่งเป็นอำเภอเจาะไอร้อง 4 เครื่อง และตากใบ 4 เครื่อง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบ Hydro Flow รวม 7 เครื่อง แบ่งเป็นอำเภอเจาะไอร้อง 2 เครื่อง ตากใบ 4 เครื่อง และสุไหงปาดี 1 เครื่อง เดินเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 19 เครื่องที่อำเภอตากใบ ทั้งยังได้นำรถแบ็กโฮเข้าขุดลอกตะกอนทรายบริเวณปากแม่น้ำด้านท้ายประตูระบายน้ำแบ่ง ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น
ที่จังหวัดปัตตานีติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่สะพานเดชานุชิต เทศบาลเมืองปัตตานี 6 เครื่อง ที่ประตูระบายน้ำปากคลองระบายน้ำ D10 (ตุยง) อำเภอหนองจิก 4 เครื่อง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำรวม 4 เครื่อง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานีใช้ประตูระบายน้ำปรีกี ควบคุมปริมาณการไหลของน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำปัตตานีให้น้อยลงแบ่งน้ำระบายผ่านคลองส่งน้ำฝั่งซ้ายและฝั่งขวาพร้อมทั้งทำการพร่องน้ำในพื้นที่และผันน้ำเข้าระบบระบายน้ำ โดยใช้เขื่อนปัตตานีหน่วงน้ำไว้ทางด้านเหนือเขื่อน เพื่อตัดยอดน้ำก่อนปล่อยน้ำลงสู่ด้านท้ายน้ำ ส่วนที่จังหวัดยะลา ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง สำนักงานชลประทานที่ 17 ติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากสาเหตุการเกิดอุทกภัยดังกล่าว พร้อมทั้งเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวัง ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“รมว. เกษตรฯ กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชน เมื่อน้ำลดแล้ว ให้ร่วมสำรวจพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย เพื่อหาแนวทางการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด” นายสัญญากล่าว . – สำนักข่าวไทย