กรุงเทพฯ 2 ม.ค. – ศปถ. สรุปสถิติอุบัติเหตุปีใหม่ วันที่สี่เกิดอุบัติเหตุ 713 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 80 ราย ผู้บาดเจ็บ 709 คน พร้อมประสานจังหวัดเข้มข้นดูแลความปลอดภัยทางถนนในถนนสายหลัก-สายรอง คุมเข้มดื่มแล้วขับ-ขับรถเร็ว
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2564 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 1 มกราคม 2564 เกิดอุบัติเหตุ 713 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 80 ราย ผู้บาดเจ็บ 709 คน สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 4 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค.63-1 ม.ค.64) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,365 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 267 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,362 ราย ประสานจังหวัดเข้มข้นดูแลความปลอดภัยทั้งเส้นทางสายหลักและสายรองอย่างต่อเนื่อง เน้นย้ำให้จุดตรวจ จุดสกัด และด่านชุมชน กวดขันวินัยจราจรตาม 10 มาตรการหลัก พร้อมปรับแผนเพิ่มจำนวนจุดตรวจบนเส้นทางสายตรงที่มีระยะทางยาว รวมถึงเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เพื่อมอบความปลอดภัยเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน
นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2564 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2564 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้ รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 713 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 80 ราย ผู้บาดเจ็บ 709 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 43.06 ขับรถเร็ว ร้อยละ 35.20
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.74 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 66.06 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 40.39 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 34.22 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 00.01-04.00 น. ร้อยละ 30.01 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 21.67
ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,908 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 61,428 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 460,054 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 98,530 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 26,682 ราย ไม่มีใบขับขี่ 25,111 ราย
โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สงขลา (28 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงราย (จังหวัดละ 5 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สงขลา (30 ราย) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 4 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค.63-1 ม.ค. 64) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,365 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 267 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 2,362 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 11 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ สงขลา (จังหวัดละ 87 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา (16 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (92 คน)
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง เปิดเผยว่า จากข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 พบว่าดื่มแล้วขับเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าร้อยละ 43.06 และเวลา 00.01-04.00 น. เป็นช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 30.01 ประกอบกับในวันนี้คาดว่าประชาชนบางส่วนเริ่มทยอยเดินทางกลับ เพื่อหลีกเลี่ยงความหนาแน่นของการจราจรในวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของวันหยุดช่วงเทศกาลปีใหม่ ขณะที่บางส่วนยังคงเฉลิมฉลอง
อยู่ในพื้นที่ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานจังหวัดเข้มข้นดูแลทั้งเส้นทางสายหลักและสายรองอย่างต่อเนื่อง เน้นย้ำให้จุดตรวจ จุดสกัด และด่านชุมชน กวดขันวินัยจราจรตาม 10 มาตรการหลัก พร้อมเข้มงวดการเรียกตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่เพื่อคุมเข้มผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า จากภาพรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 4 วันที่ผ่านมา พบว่าการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและการเมาสุรา
เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและเสียชีวิต ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ได้ประสานจังหวัดกวดขันการใช้ความเร็ว ปรับแผนเพิ่มจำนวนจุดตรวจบนเส้นทางสายตรงที่มีระยะทางยาว รวมถึงเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เพื่อประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ เพื่อมอบความปลอดภัยเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน.-สำนักข่าวไทย