สำนักข่าวไทย 30 ธ.ค.- “นพ.ยง” โพสต์ให้ความรู้โควิด-19 และระบุสาเหตุความล่าช้าของวัคซีนในไทย เนื่องจากกระบวนการผลิตวัคซีนของบริษัท AstraZeneca ที่ไทยกำลังจอง และร่วมผลิต ยังพัฒนาไม่เสร็จสิ้น พร้อมแนะไทยควรเพิ่มทางเลือกในการจองวัคซีนจากหลายบริษัท
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ให้ความรู้ทางระบาดวิทยาเกี่ยวกับเชื้อโควิด-19 รวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับวัคซีน ว่า
1.ขณะนี้ทั่วโลกวัคซีนโควิดที่ได้ขึ้นทะเบียนให้ฉีดในภาวะฉุกเฉิน มี 6 ชนิด เป็นของจีน 3 ชนิด รัสเซีย 1 ชนิด อเมริกา 1 ชนิด และอเมริการ่วมกับเยอรมัน 1 ชนิด
2.วัคซีนเป็นเชื้อตาย 2 ชนิดของจีน ไวรัสเวกเตอร์ 2 ชนิดเป็นของจีนและรัสเซียและ mRNA 2 ชนิดเป็นของอเมริกา และอเมริการ่วมกับเยอรมนี
3.วัคซีน AstraZeneca ที่ไทยรอคอยอยู่ ยังไม่สิ้นสุดการทดลอง
4.มีร่วม 10 ประเทศได้เริ่มฉีดวัคซีนไปแล้ว มากกว่า 5 ล้านโดส และภายในมกราคม จะมีการฉีดอีกหลายสิบเท่า ซึ่งคาดว่าจะเป็นร้อยล้านโดส
5.ประเทศต่างๆได้ขึ้นทะเบียน หรือทะเบียนในภาวะฉุกเฉินในวัคซีนบางตัว มากกว่า 30 ประเทศ และรวม EU ทั้งหมด แสดงว่าจะมีการฉีดเป็นจำนวนมาก ในเดือนมกราคม
ทำไมประเทศไทยจึงช้าในเรื่องวัคซีนโควิด
1.เพราะเรามุ่งอยู่กับวัคซีนไวรัส เวกเตอร์ของ AstraZeneca อย่างเดียวหรือ? (ไม่ทราบ) ยังทดลองไม่เสร็จ และยังไม่มีประเทศไหนขึ้นทะเบียน แม้กระทั่งในภาวะฉุกเฉิน (รออังกฤษ) ความจำเป็นที่ต้องใช้วัคซีนมีจำนวนมากกว่าที่ทำสัญญาไว้มาก
2.เราไม่ควรยึดติดอยู่กับวัคซีนบริษัทใดบริษัทหนึ่ง มีวัคซีนให้เลือกในขณะนี้ หลายบริษัท แม้กระทั่งของจีน ยุโรป อเมริกา
3.ขบวนการติดต่อจัดซื้อ ไม่ควรอยู่ที่วัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่ง เพราะมีความจำเป็นใช้ถึง 80 ล้านโดส ควรจะมีตัวเลือก และถือเป็นเรื่องเร่งด่วน
4.ภาคเอกชนควรมีส่วนช่วยภาครัฐ เชื่อว่าถ้าให้เอกชนนำเข้า จะแบ่งเบาภาครัฐได้มาก ถึงแม้ว่าวัคซีนที่จะต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำ ก็ไม่เป็นปัญหา ในสิงคโปร์สามารถจัดการได้ ประเทศไทยก็ควรจะจัดการได้ เพื่อจะได้แบ่งเบาวัคซีนของภาครัฐ ให้ได้เพียงพอกับประชาชนทั่วไปโดยเร็ว
5.กระบวนการขึ้นทะเบียนของไทยจะต้องมีขั้นตอนที่รวดเร็ว ดูแผนที่และข้อมูลจาก Wikipedia การวางแผนการให้วัคซีนของประเทศต่างๆทั่วโลกแล้ว แม้กระทั่งแผนการขึ้นทะเบียนการใช้อย่างฉุกเฉิน รออยู่ ก็ไม่มีประเทศไทย
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มี สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งนำหน้าไปแล้ว เราจะทำอย่างไร ให้ประเทศไทยขยับตัวได้เร็วกว่านี้ ไม่รอถึงมิถุนายน อย่างที่เป็นข่าว การระบาดครั้งนี้หนักกว่าที่คิด ผู้รับวัคซีนควรมีสิทธิ์เลือกที่จะฉีดหรือไม่ฉีด และควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้องทั้งหมด
ส่วนโควิด-19 วัคซีน ใครคือผู้สมควรได้รับวัคซีนก่อน? ในกรณีที่วัคซีนเข้ามาในระยะแรก วัคซีนจะไม่เพียงพอในการให้กับคนหมู่มาก ผู้ที่สมควรที่จะได้รับวัคซีนก่อนคือผู้ที่มีความเสี่ยงหมายความว่าเมื่อติดโรคแล้วจะมีอาการรุนแรงหรือมีโอกาสที่จะติดโรคสูง จึงได้แก่
- กลุ่มผู้สูงอายุ โดยทั่วไปจะถือเอาอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
- กลุ่มบุคลากรที่ทำงานดูแลรักษาผู้ป่วย สอบสวน และทุกคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานที่ ที่มีผู้ป่วยผู้ติดเชื้อ
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นเบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ และเมื่อมีวัคซีนมากขึ้น จึงค่อยเพิ่มกลุ่มเสี่ยงกลุ่มอื่น ผู้มีอายุน้อยโดยเฉพาะต่ำกว่า 40 ปีลงมาและมีร่างกายแข็งแรง เมื่อติดเชื้อจะมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการและโรคนี้เมื่อเป็นกับเด็กอาการน้อยมาก ในเด็กจึงยังไม่มีการให้วัคซีนกันในขณะนี้ จนกว่าจะมีการรอการทดสอบการให้วัคซีนในเด็กและมีข้อมูลการให้ที่มากพอในเด็ก ก็น่าจะเป็นกลุ่มท้าย
เราควรพิจารณาว่าเราอยู่กลุ่มใด มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ ศ.นพ.ยง กล่าวปฏิเสธให้สัมภาษณ์ทุกกรณี ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีซูม หรืออะไรก็ตาม เนื่องจากอยู่ในระหว่างการกักตัว ขอให้ข้อมูลทางวิชาการ ที่เป็นความรู้แบบลายลักษณ์อักษรแทน .-สำนักข่าวไทย