กรุงเทพฯ 29 ธ.ค. – อธิบดีกรมควบคุมมลพิษเผย หน่วยหน่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเข้าตรวจโรงงานผลิตโลหะที่ จ. ฉะเชิงเทรา พบมีได้ขออนุญาตก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ทั้งยังปล่อยให้ปนเปื้อนสู่อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำโจน
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า สั่งการให้หน่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมที่ 13 (ชลบุรี) ร่วมกับบก.ปทส. กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา กรมชลประทาน กอ.รมน. จ.ฉะเชิงเทรา ที่ว่าการ อ.พนมสารคาม อบต. เขาหินซ้อน และสวนอุตสาหกรรม 304 ตรวจสอบการประกอบกิจการของบริษัท ทีเอชเอช โมลีโพรเซสซิ่ง จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ภายในสวนอุตสาหกรรม 304 ซึ่งต้องสงสัยว่า ลักลอบทิ้งสารเคมีมาเป็นเวลานาน
ทั้งนี้ได้รับรายงานว่า บริษัทดังกล่าวตั้งโรงงานประเภท 42(1) ประกอบกิจการผลิตโลหะ Molybdenum Oxide และ Ferrous molybdenum โดยนำเข้าสินแร่จากประเทศมองโกเลีย แต่มีปัญหาร้องเรียนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 ว่า ลักลอบปล่อยของเสียจากกระบวนการล้างโลหะที่ผลิต แล้วส่งผลให้แหล่งน้ำใกล้เคียงเกิดมลพิษ จากการตรวจสอบพบว่า เดิมโรงงานไม่มีระบบกำจัดของเสีย ทางบริษัทส่งให้บริษัทภายนอกนำไปกำจัด ภายหลังโรงงานได้ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียเอง แต่ไม่ได้ขออนุญาต ส่วนกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียที่มีเหล็กและทองแดงส่งขายให้กับบริษัทที่มารับซื้อ
นอกจากนี้ยังต่อเติมอาคารโดยไม่ขออนุญาต กองกากตะกอนบริเวณภายนอกอาคาร ปล่อยปละทำให้ปนเปื้อนออกนอกโรงงาน ตลอดจนขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลโดยไม่ขออนุญาต
คณะผู้ตรวจสอบมอบหมายให้เจ้าพนักงานตามกฎหมายดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษ/หรือออกคำสั่ง รวมถึงให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ อีกทั้งให้บริษัทส่งเอกสารเพิ่มเติมในประเด็นแผนผัง แบบแปลนระบบบำบัดน้ำเสีย อากาศ และปริมาณการใช้น้ำประปา เจ้าหน้าที่คพ. เก็บตะกอนดินที่อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำโจน ซึ่งห่างจากโรงงานประมาณ 1 กิโลเมตร ด้านกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเก็บน้ำบ่อที่สัญนิษฐานว่า มีการลักลอบทิ้งสารเคมีและเก็บตัวอย่างน้ำบ่อตรวจการในโรงงาน
แนวทางเบื้องต้นในการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนและเกษตรกรที่ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำคือ เร่งปูนขาวผสมในน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเป็นกรด โดยเมื่อทราบผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ จะแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำโดยเร็ว ทั้งเรื่องกลิ่นเหม็นและการปนเปื้อนของโลหะหนักในตะกอนดิน ซึ่งอันตรายต่อสุขภาพ . – สำนักข่าวไทย